โรคติดเชื้อ "ไวรัสนิปาห์" โรคจากไวรัสมรณะ ที่ยังไร้วัคซีนรักษา
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยทั่วโลกกว่า 40 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วกว่าล้านคน โรคนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากตื่นตัวเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสมากขึ้น และรู้ว่าเชื้อไวรัสบางชนิดสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ด้วย แต่นอกจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แล้ว ยังมีเชื้อไวรัสอีกหนึ่งชนิดที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้เช่นกัน นั่นคือ เชื้อไวรัสนิปาห์ ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ที่ในปัจจุบันยังไม่มียาและวัคซีนรักษาเฉพาะ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
Hello คุณหมอจะพาไปทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้น
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ คืออะไร
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus infection) เป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonotic disease) เกิดจากเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah virus หรือ NiV) ที่เป็นไวรัสในกลุ่มพารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus) นอกจากจะติดต่อจากสัตว์สู่คนได้แล้ว โรคนี้ยังสามารถแพร่กระจายผ่านอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสนิปาห์ หรือติดต่อจากคนสู่คนได้ด้วย การติดเชื้อไวรัสนิปาห์สามารถส่งผลให้เกิดอาการได้หลากหลาย ตั้งแต่การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน ไปจนถึงโรคไข้สมองอักเสบที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์แพร่ระบาดครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1999 โดยผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกคือกลุ่มคนเลี้ยงหมูในหมู่บ้านสุไหง นิปาห์ (Sungai Nipah) ประเทศมาเลเซีย ก่อนโรคจะแพร่กระจายไปในพื้นที่อื่น รวมถึงประเทศสิงคโปร์ด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสหรือบริโภคเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น หมู และผู้ป่วยกว่า 40% ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะเป็นโรคทางระบบประสาทขั้นรุนแรง จนทำให้เสียชีวิตในที่สุด
การระบาดครั้งต่อมาเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียและบังคลาเทศ โดยมีสาเหตุจากผู้ป่วยสัมผัสหรือบริโภคผลไม้สด หรือผลไม้แปรรูป เช่น อินทผลัม ที่ปนเปื้อนปัสสาวะหรือน้ำลายของค้างคาวที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์
สัญญาณ และอาการของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
หลังจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสนิปาห์ เชื้อจะใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 5-14 วัน แต่ก็มีรายงานว่า ผู้ป่วยบางรายมีระยะฟักตัวของเชื้อนานถึง 45 วัน เมื่อติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรคภายใน 3-14 วันหลังติดเชื้อ อาการที่พบทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ง่วงซึม มีภาวะการรับรู้สภาพแวดล้อมผิดปกติ (Disorientation) มีอาการสับสนทางจิต และอาการของโรคอาจรุนแรงถึงขั้นโคม่าได้ภายในเวลา 24-48 ชั่วโมง ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์บางราย อาจป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงแรกของการติดเชื้อ ในขณะที่ผู้ป่วยกว่า 50% มีอาการทางระบบประสาทและปอดที่รุนแรง
ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ส่วนใหญ่สามารถหายจากโรคได้ หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์อาจก่อให้เกิดผลสืบเนื่องในระยะยาว เช่น ภาวะชักเรื้อรัง บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ระยะแฝง หรือโรคกำเริบซ้ำ จนทำให้ถึงแก่ชีวิตหลังจากติดเชื้อไปหลายเดือนหรือหลายปีแล้วก็ได้
กลุ่มเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
คนทุกเพศทุกวัยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ท้องถิ่นติดเชื้อจัดเป็นผู้เสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ทั้งสิ้น โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในคนเกิดจากการสัมผัสกับคนหรือสัตว์ติดเชื้อ เช่น ค้างคาว หมู ม้า รวมถึงการสัมผัสกับเนื้อเยื่อ และสารคัดหลั่งจากคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อด้วย จากสถิติของการแพร่ระบาดครั้งที่ผ่าน ๆ มา พบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อ หรือเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
วิธีรักษาโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์โดยเฉพาะ การรักษาที่ทำได้จึงเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาท และอาการไข้ หากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ยาต้านไวรัส “ไรบาไวริน” (Ribavirin) อาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการชักได้ แต่หลักฐานในเรื่องนี้ก็ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะต้องดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง ทั้งยังต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไม่ให้มีการระบาดของโรคด้วย
วิธีป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
เราสามารถป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย เช่น หมู ค้างคาว ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด
- ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือเนื้อสัตว์ที่ป่วยตาย
- รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น และไม่ควรบริโภคอาหารปรุงสุกที่สัมผัสกับอาหารดิบ
- ทำความสะอาดวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ให้สะอาด ก่อนนำมาประกอบอาหารทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการค้าสัตว์มีชีวิต หรือซากสัตว์
- หมั่นล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำสบู่ โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังสัมผัสผู้มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูก ไอ จาม
- ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด