“โควิด-19” กับผลกระทบสุขภาพจิตของคนไทย
สุขภาพจิตคนไทยได้รับผลกระทบจากสภาวะความกดดันทางการเมือง เศรษฐกิจ และวิกฤติโรคโควิด 19 ทำให้เกิดสภาวะเครียดสะสมจนเกิดปัญหาสุขภาพและป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
“โควิด-19” กับผลกระทบสุขภาพจิตของคนไทย
ดร.ชนิตาพันธ์ ธนะวัฒนกรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โซล โฟกัส ไทยแลนด์ จำกัด (Soul Focus Thailand) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มเครียดมากขึ้น จากภาวะสังคมต่างๆ ประกอบกับปัจจุบันต้องเผชิญกับวิกฤติกับโรคโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนมีสภาวะเครียดจนนำไปสู่โรคเครียดสะสมจนเกิดปัญหาสุขภาพและป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
จากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลกพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากกว่า 300 ล้านคนคิดเป็น 4% ของจำนวนประชากรทั้งโลก 7,500 ล้านคน ในทุกๆ ปีจะมีอัตราผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คน โดย 78% เกิดในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ด้านจากข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านจิตเวชมากถึง 3.3 ล้านคน แบ่งเป็น โรคจิตเภท 455,118 คน โรคซึมเศร้า 370,885 คน โรควิตกกังวล 485,621 คน พยายามฆ่าตัวตาย 31,610 คน ในขณะที่ประชากรที่สามารถเข้าถึงบริการด้านโรคจิตเวช คิดเป็น 61.21% ของจำนวนผู้ป่วยเท่านั้น
สาเหตุของความเครียด
ดร.จอมขวัญ เลื่องลือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล โฟกัส จำกัด นักจิตวิทยาด้านความสัมพันธ์และครอบครัว กล่าวเสริมว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนเกิดความเครียด กังวลไม่สบายใจ มักมาจากประสบการณ์ของความสัมพันธ์และการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน การมีผู้ช่วยรับฟังปัญหาที่ดี ช่วยให้เข้าใจตัวเองและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
สัญญาณความเครียด
หากเริ่มรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และจิตใจตามอาการที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ อาจสันนิษฐานได้ว่าคุณอาจกำลังเสี่ยงภาวะเครียด หรือภาวะเครียดสะสมได้
- นอนไม่หลับ หรือมีพฤติกรรมในการนอนที่แปลกไป เช่น นอนดึกขึ้น
- พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ไม่อยากพูดจากับใคร อยากอยู่คนเดียว เบื่อง่าย หมดความสนใจกับสิ่งที่เคยชอบ
- วิตกกังวล เศร้าหมอง แสดงออกอย่างชัดเจนทั้งสีหน้า แววตา และพฤติกรรมต่างๆ ไม่มีความสุข
- อาการผิดปกติที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น ปวดศีรษะบ่อยๆ คลื่นไส้ อาเจียน รวมไปถึงการหายใจถี่ๆ หรือกลั้นหายใจโดยไม่รู้ตัว
- อาจเคยมีความรู้สึก หรือตัดพ้อว่าอยากหายไปจากโลกนี้ อยากตาย ไม่อยากอยู่แล้ว
วิธีรักษาอาการเครียด
หากยังมีอาการเครียดเล็กน้อยที่ตัวเองยอมรับว่าเครียด และสามารถหาสาเหตุเจอ เช่น เรื่องงาน เงิน ความรัก ครอบครัว ให้ลองพยายามแก้ที่สาเหตุ เช่น พูดคุยปรับความเข้าใจ ไม่คิดเองเออเอง รวมถึงการพูดคุยต้องเป็นการเปิดใจ ไม่ใช้อารมณ์ และหากสาเหตุที่ทำให้เครียดเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง สามารถปรับทุกข์กับคนข้างตัวที่ไว้ใจได้
หากยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อไป