อาการ “บาดเจ็บข้อเท้า” สาเหตุ และวิธีรักษา
ข้อเท้าและเท้า นับเป็นอีกหนึ่งอวัยวะสำคัญให้มนุษย์เราสามารถก้าวเดิน ยืน วิ่งอย่างมั่นคงได้ เท้าของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันและมีลักษณะเฉพาะตัว มีการปรับตัวของโครงสร้างเท้าผ่านการใช้งานและกิจกรรมที่ทำ การบาดเจ็บของเท้าที่แต่ละคนพบเจอ รวมถึงการใส่รองเท้าก็ส่งผลต่อเท้าและข้อเท้าได้เช่นกัน
นพ.สุทร บวรรัตนเวช ผู้อำนวยการใหญ่ ศูนย์อุบัติเหตุและออโธปิดิกส์ ในเครือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ และผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์กระดูกและข้อ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เท้า เป็นอวัยวะที่อยู่ล่างสุด แต่มีความสำคัญกับร่างกายอย่างมาก ทั้งรับน้ำหนักของร่างกาย รองรับการเคลื่อนไหว และสะท้อนการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย
กระดูกบริเวณเท้า ประกอบไปด้วยกระดูกชิ้นเล็กๆ 26 ชิ้น กระดูกรอบข้อเท้าประกอบด้วย ส่วนปลายของของกระดูกหน้าแข้ง มีส่วนนูนของกระดูก เรียกว่า กระดูกตาตุ่มด้านใน (medial malleolus) และกระดูกส่วนปลายของกระดูกน่อง มีส่วนนูนของกระดูกเรียกว่า กระดูกตาตุ่มด้านนอก (lateral malleolus) และ กระดูกเท้า (tarsal bone) ซึ่งกระดูกส่วนต่างๆ และเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเท้า ร่วมกันทําหน้าที่ของข้อเท้าในการ ขยับเหยียดกระดก และหมุนข้อเท้า ช่วยในการทรงตัวยืน-เดิน และถ่ายรับน้ำหนักตัว
ปัญหาเท้าและข้อเท้าที่พบบ่อย
นพ.อภิสรรค์ จินานุวัฒนา ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านเท้าและข้อเท้า รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ภาวะที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยปัญหาเท้าและข้อเท้าที่พบบ่อยได้แก่
- อุบัติเหตุข้อเท้าและเท้าพลิก
- ความผิดปกติทางโครงสร้างของกระดูก เส้นเอ็น หรือข้อของเท้าและข้อเท้า โดยการผิดปกติของโครงสร้างเพียงโครงสร้างเดียว สามารถส่งผลต่อโครงสร้างข้างเคียง อันนำไปสู่ความภาวะผิดปกติทางโครงสร้างอื่นๆ ตามมา นอกจากนี้ยังส่งผลให้ท่าเดิน การลงน้ำหนักเท้าขณะย่างก้าวเปลี่ยนไป ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อข้อที่อยู่สูงขึ้นไป เช่น ข้อเข่าและข้อสะโพก รวมถึงข้อบริเวณหลังด้วย
ความผิดปกติของเท้าและข้อเท้าพบได้ทุกส่วนของเท้าโดยจะแบ่งส่วนของเท้าเป็น 3 ส่วนคือ
- Forefoot บริเวณปลายนิ้ว
- Midfoot บริเวณอุ้งเท้า
- Hindfoot บริเวณข้อเท้า
โดยภาวะที่พบได้บ่อย ได้แก่ ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเก ภาวะปลายนิ้วเท้าผิดรูปหรือขี่กัน เท้าแบน อุ้งเท้าสูง ข้อเท้าเอียงผิดรูป ซึ่งอาจต่อเนื่องมาจากส่วนอุ้งเท้าหรือเป็นส่วนของข้อเท้าเอง
5 ปัจจัยเสี่ยง "ข้อเท้าผิดรูป"
สาเหตุของภาวะเท้าและข้อเท้าผิดรูป อาจเกิดจาก
- กรรมพันธุ์ โครงสร้างทางกายวิภาคของผู้ป่วยที่ได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม
- ภาวะเอ็นข้อหลวม หรือ ข้อหย่อน
- การใส่รองเท้าที่ผิดสุขลักษณะหรือไม่เหมาะกับเท้าของบุคคลนั้นๆ เช่น ส้นสูง รองเท้าที่มีการรับบริเวณอุ้งเท้าไม่เหมาะสม รองเท้าที่มีหน้าเท้าแคบหรือกว้างเกินไป
- ภาวะผิดรูปหลังจากการบาดเจ็บของกระดูกและเส้นเอ็นข้อเท้า และเท้าที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น จนอาจเกิดปัญหากระดูกไม่ติด กระดูกติดผิดรูป ข้อเอียง ผิวกระดูกข้อสึกหรือมีการกระเทาะบางส่วน เส้นเอ็นเคลื่อนหลุดออกจากร่องเส้นเอ็น เส้นเอ็นข้อเท้าหย่อนเป็นเหตุให้ข้อไม่มั่นคงและส่งผลให้เกิดข้อเสื่อมในที่สุด
- ภาวะข้อผิดรูปจากการทำลายข้อที่มาจากภาวะแทรกซ้อนของระบบปลายประสาท (Charcot arthropathy) ซึ่งพบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น
สาหตุของอาการบาดเจ็บข้อเท้า
นพ.เอกจิต ศิขรินกุล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านการบาดเจ็บกระดูกและข้อ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ด้านของการบาดเจ็บของบริเวณรอบข้อเท้านั้น เกิดได้จากการบาดเจ็บโดยตรง หรือ การบาดเจ็บโดยอ้อม กล่าวคือ การถูกกระทบกระแทกของข้อเท้าต่อพื้นผิว หรือวัตถุแข็ง การกระแทกตามแนวดิ่ง หรือ การบิดงอ ของข้ออย่างรุนแรง ทําให้เกิดการหักของกระดูกในบริเวณข้อเท้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกเปราะบาง กระดูกพรุน หรือผู้สูงอายุ โดยลักษณะ และความรุนแรง ของการแตกหักกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับ กลไกของการบาดเจ็บ และความแข็งแรงของกระดูก นอกจากข้อมูลต่างๆ และอาการแสดงแล้ว แพทย์ต้องอาศัยภาพรังสีในการช่วยวินิจฉัย และวางแผนการผ่าตัด ได้แก่ ภาพถ่ายรังสี (plain X-ray) และ Computer Tomography Scan (CT Scan) ในการแตกหักของกระดูกที่ซับซ้อนหรือการแตกร้าวที่สังเกตได้ยาก
การรักษาอาการเท้าผิดรูป และอาการบาดเจ็บของเท้าและข้อเท้า
การให้การรักษาโดยไม่ผ่าตัด (conservative treatment) สามารถทําได้ในกรณีที่มีการแตกหักของกระดูกนั้นๆ เมื่อติดแล้วไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนขยับ รับน้ำหนักตัว และการใช้งานเดิมของผู้ป่วยเช่น กระดูกร้าว หรือแตกหักโดยไม่มีการเคลื่อนที่ของผิวข้อ หรือการแตกหักนั้นๆ ไม่ส่งผลต่อการดําเนินชีวิตของผู้ป่วย เป็นต้น โดยแพทย์สามารถให้การรักษาโดยการใส่เฝือก หรืออุปกรณ์เพื่อพยุง จํากัดการเคลื่อนขยับข้อเข่า และป้องกันการถ่ายลงน้ำหนัก กระทั่งกระดูกมีการเชื่อมติดที่แข็งแรงเพียงพอโดยใช้ระยะเวลา 6-8 สัปดาห์
การให้การรักษาโดยการผ่าตัด (operative treatment) เป็นการให้รักษาในกรณีที่มีการแตกหัก และเคลื่อนของผิวข้อ หรือผู้ป่วยไม่สามารถรักษาโดยการใส่เฝือกได้ โดยในส่วนของกระดูกตาตุ่มด้านใน และด้านนอกของข้อเท้าปัจจุบัน เป็นการผ่าตัดเพื่อจัดกระดูก ใส่สกรู และ/หรือแผ่นโลหะยึดตรึงกระดูก (open reduction and internal fixation with Screws | plate and Screw) หรือการรัดลวดโลหะ tension band wiring เพื่อให้กระดูกติดในสภาวะและตําแหน่งที่เหมาะสม ร่วมกับการทํากายภายเพื่อให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น การรักษากระดูกหักที่ซับซ้อน ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์เอ็กซเรย์แขนกล (Robotic C-arm, Artis Pheno) เพื่อช่วยให้สามารถได้ภาพถ่ายรังสีที่ชัดเจน และการทำภาพสามมิติ ในระหว่างการผ่าตัด สามารถทำให้การผ่าตัดยึดกระดูกมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำ รวมถึงการลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การให้การรักษากระดูกบริเวณข้อเท้าหักนั้นมีการรักษาที่แตกต่างกันตามตําแหน่งของชิ้นกระดูก การเคลื่อนที่ของชิ้นกระดูกที่แตกหัก ความรุนแรงของการบาดเจ็บ ความแข็งแรงของกระดูก และการบาดเจ็บร่วม (associated injury) โดยปัจจัยต่างๆ แพทย์ด้านการบาดเจ็บของกระดูกและข้อ จะนํามาเป็นข้อพิจารณาในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย โดยคํานึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคประจําตัว การใช้งานเดิมของผู้ป่วยก่อนการบาดเจ็บ และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ
นอกเหนือจากการบาดเจ็บของกระดูกแล้วรอบข้อเท้ายังประกอบด้วยเส้นเลือดใหญ่และเส้นประสาทที่สําคัญ เนื้อเยื่ออื่นๆ โดยเฉพาะที่พบบ่อยคือ การบาดเจ็บ ของเส้นเอ็นรอบข้อเท้า (ankle sprain) ซึ่งมักจะพบว่ามีการบาดเจ็บจากการบิด พลิกของข้อเท้าเกิด การยืดออกของเส้นเอ็น จนเนื้อเยื่อของเส้นเอ็นมีการฉีกขาด ส่งผลให้มีอาการเจ็บ บวม และเลือดออกเกิด เป็นรอยช้ำที่ผิวหนัง การขยับของข้อเท้า และการลงน้ำหนักจะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บมากขึ้น
อาการมากน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บของเส้นเอ็น โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับ 1 เส้นเอ็นมีการยืดเล็กน้อย แต่ไม่เสียความมั่นคงของข้อเท้า
- ระดับ 2 เส้นเอ็นมีการฉีกขาดบางส่วน แต่ความมั่นคงของข้อเท้าไม่เสีย หรือเสียเพียงเล็กน้อย
- ระดับ 3 เส้นเอ็นมีการฉีกขาดทั้งหมด และเสียความมั่นคงของข้อเท้า
การรักษาเบื้องต้นของการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
เพื่อลดอาการอักเสบ อาการบวม และเจ็บ ทําได้โดยพักการใช้งาน ประคบเย็น และยกเท้าให้สูงขึ้น (Rest, Ice Compression, Elevation / RICE) หลีกเลี่ยงความร้อน แอลกอฮอล์ การใช้งานหนัก การบีบนวด (Heat, Alcohol, Running, Massage / HARM) โดยเฉพาะในช่วง 48-72 ชั่วโมงหลังการบาดเจ็บ พักการใช้งานและใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บและอาการอักเสบ ซึ่งอาจจะร่วมกับการใส่อุปกรณ์ ช่วยพยุงหรือใส่เผือก ในรายที่ข้อเท้าไม่เสียความมั่นคง หรือเสียความมั่นคงเล็กน้อย
สําหรับการบาดเจ็บที่รุนแรงจนมีผลต่อความมั่นคงของข้อเท้า มีผลต่อการใช้งานในบางราย แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทําโดยการผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อเย็บซ่อมเส้นเอ็น ให้เส้นเอ็นกลับมามีความแข็งแรง และข้อเท้ามีความมั่นคงได้ หากท่านมีปัญหาเกี่ยวกับอาการโรคเกี่ยวกับเท้าและข้อเท้า