"ชา" เครื่องดื่มที่เหมาะกับวัยทอง-วัยหมดประจำเดือน

"ชา" เครื่องดื่มที่เหมาะกับวัยทอง-วัยหมดประจำเดือน

"ชา" เครื่องดื่มที่เหมาะกับวัยทอง-วัยหมดประจำเดือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน สามารถทำให้คุณผู้หญิงหลายคนรู้สึกไม่สบายตัว การเข้าไปปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่สำหรับใครที่อยากลองรักษาอาการที่เกิดขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติ ก็มีอีกทางเลือกคือ ชาที่เหมาะกับวัยหมดประจำเดือน แต่จะมีชาอะไรบ้าง ต้องติดตามกันใน Hello คุณหมอ

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัยหมดประจำเดือน

วัยหมดประจำเดือนเกิดจากการที่ผู้หญิงไม่มีรอบเดือนตามธรรมชาติเป็นเวลา 12 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่ปริมาณฮอร์โมนของผู้หญิงผลิตลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งในช่วงวัยหมดประจำเดือน ความสมดุลระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) โปรเจสเตอ์โรน (Progesterone) และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) จะเปลี่ยนแปลง

ในช่วงเวลาก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน คุณจะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ร้อนวูบวาบ และอารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มบรรเทาลงเมื่ออยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว ผู้หญิงจะเริ่มมีอาการวัยหมดประจำเดือนในช่วงอายุ 40-50 ปี แต่บางครั้งมันอาจจะเกิดขึ้นก่อนช่วงอายุนี้ก็ได้เช่นกัน

สัญญาณอาการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

การหมดประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติ โดยปกติมักจะเกิดขึ้นยาวนานตั้งแต่ 10 เดือนถึง 4 ปี แต่สำหรับหลาย ๆ คนอาจจะนานกว่านี้ก็ได้ นอกจากอาการร้อนวูบวาบและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ผู้หญิงอาจจะพบอาการต่างๆ เหล่านี้

  • เลือดออกทางช่องคลอด
  • ช่องคลอดแห้ง
  • ผมร่วง
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้น และอ้วนง่ายขึ้น

นอกจากนี้บางคนยังมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย

ความรู้สึกไม่สบาย และความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือน มีวิธีตามธรรมชาติที่สามารถบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือชาที่อาจช่วยให้คุณฝ่าฟันอาการไม่สบายตัวจากภาวะวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน

ชาที่เหมาะกับวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน มีอะไรบ้าง

ยาสามารถช่วยปรับสมดุลของการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน แต่ยาหรือฮอร์โมนก็อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับใครที่กำลังหาวิธีแบบธรรมชาติอยู่ การดื่มชาถือเป็นวิธีธรรมชาติอย่างหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือนหรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งชาที่ช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • โสม

โสมได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ช่วยลดการเกิดและความรุนแรงของอาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกตอนกลางคืนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้ การวิจัยจากแหล่งที่เชื่อถือได้พบว่า โสมสามารถช่วยทำให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

การศึกษาในปี 2010 ยังแสดงให้เห็นว่า โสมแดง สามารถช่วยให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพิ่มอารมณ์ทางเพศและปรับปรุงชีวิตทางเพศได้ คุณสามารถดื่มชาโสมทุกวันเพื่อประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ โสมเป็นสมุนไพรอาจจะมีปฏิกิริยากับยาหลายชนิด เช่น หัวใจ ความดันโลหิต เบาหวาน และยาลดความอ้วน ซึ่งผลข้างเคียงอาจรวมถึงความกระวนกกระวายใจ ปวดหัว และความกังวลใจ

  • ต้นเชสต์เบอร์รี่ (Chasteberry Tree)

ต้นเชสต์เบอร์รี่สามารถรักษาอาการก่อนมีประจำเดือนได้ นอกจากนั้นมันยังช่วยบรรเทาอาการปวดเต้านม (Mastodynia) และอาการร้อนวูบวาบในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากนั้นต้นเชสต์เบอร์รี่ยังเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งสามารถช่วยรักษาสมดุลระหว่างฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนตลอดช่วงการเปลี่ยนแปลงจากวัยใกล้หมดประจำเดือนไปสู่วัยหมดประจำเดือน

สำหรับผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน ไม่ควรดื่มชาจากต้นเชสต์เบอร์รี่ นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคที่ไวต่อฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม ควรหลีกเลี่ยงชานี้ และชาจากต้นเชสเบอร์รี่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ทานยารักษาโรคทางจิตเวชหรือยาสำหรับโรคพาร์กินสัน

  • ใบราสเบอร์รี่สีแดง

แม้ชาจากใบราสเบอร์รี่สีแดงจะไม่ได้เชื่อมโยงกับการบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นในวัยหมดประจำเดือน แต่มันมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เริ่มมีประจำเดือนในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน ชานี้โดยทั่วไปถือว่าปลอดภัยสำหรับดื่มในช่วงก่อนหมดประจำเดือนและในวัยหมดประจำเดือน

  • เรด โคลเวอร์ (Red Clover)

ชาเรด โคลเวอร์ ถูกใช้ในการรักษาอาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกตอนกลางคืนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นหลัก นอกจากนี้ยังสามารถใช้ชาเรด โคลเวอร์ ในการรักษาความดันโลหิตสูง เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก และเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ด้วย เรด โคลเวอร์ มีไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) ซึ่งเป็นเอสโตรเจนจากพืช ซึ่งช่วยปรับปรุงอาการฮอร์โมนไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในวัยหมดประจำเดือน ชาเรด โคลเวอร์ เป็นชาที่อร่อยและสามารถดื่มในชีวิตประจำวันได้

  • ตังกุย (Dong Quai)

ชาตังกุยช่วยปรับสมดุลและควบคุมระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยชาตังกุยจะช่วยเพิ่มหรือลดฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยขึ้นอยู่กับความไม่สมดุลของฮอร์โมนด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ชาตังกุยยังช่วยลดอาการตะคริว ซึ่งเป็นกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) และสามารถบรรเทาอาการปวดกระดูกเชิงกรานในวัยหมดประจำเดือนได้อีกด้วย

คุณควรหลีกเลี่ยงชาตังกุยหากคุณจะต้องเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากมันจะเข้าไปรบกวนการแข็งตัวของเลือด ผู้ที่มีผิวขาวอาจไวต่อแสงแดดมากขึ้น หลังจากดื่มชานี้เป็นประจำ นอกจากนั้น การศึกษาจากแหล่งที่เชื่อถือได้พบว่า ตังกุยผสมคาโมมายล์ สามารถลดอาการร้อนวูบวาบที่เกิดขึ้นได้ถึง 96% ของตัวอย่างการศึกษาทั้งหมด

  • วาเลเรียน (Valerian)

ชารากวาเลเรียนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงการรักษาอาการนอนไม่หลับ วิตกกังวล อาการปวดหัว และความเครียด นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลือกสำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน เพราะสามารถลดอาการร้อนวูบวาบได้

สำหรับผู้หญิงที่มีอาการโรคกระดูกพรุน วาเลเรียนสามารถเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก และรักษาอาการปวดข้อได้ด้วย การดื่มชารากวาเลเรียนก่อนนอน ช่วยทำให้นอนหลับสบายตลอดคืน แต่ทั้งนี้ควรปรึกษาคุณหมอก่อนที่จะดื่มในระยะยาวและไม่ควรดื่มชารากวาเลอเรียนร่วมกับแอลกอฮอล์

  • ชาเขียว

การศึกษาในปี ค.ศ. 2009 พบว่า ชาเขียวนั้นมีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างกระดูกและลดความเสี่ยงของกระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ชาเขียวนั้นเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ คาเฟอีน และสาร EGCG โดยสาร EGCG ช่วยเพิ่มการเผาผลาญอาหาร เสริมสร้างกระดูก ช่วยต่อสู่กับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่หากคุณกังวลเรื่องการนอนหลับ ควรเลือกดื่มชาที่ไม่มีคาเฟอีนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

  • แปะก๊วย

แปะก๊วยมีไฟโตรเอสโทรเจน ซึ่งจะคล้ายกับเรด โคลเวอร์ และสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนตามธรรมชาติ จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2009 ชี้ให้เห็นว่า แปะก๊วยสามารถปรับปรุงอาการของภาวะก่อนมีประจำเดือน (PMS) และความผันผวนของอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นก่อนและระหว่างวัยหมดประจำเดือน ชาแปะก๊วยควรดื่มในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากสามารถรบกวนการแข็งตัวของเลือดได้

หากคุณต้องการดื่มชา เพื่อบรรเทาอาการของวัยหมดประจำเดือนด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียก่อน เพราะชาบางชนิดมีผลต่อยาที่คุณรับประทานอยู่เป็นประจำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook