วัย "หมดประจำเดือน" ควรกินสมุนไพร-อาหารเสริมอะไรบ้าง?

วัย "หมดประจำเดือน" ควรกินสมุนไพร-อาหารเสริมอะไรบ้าง?

วัย "หมดประจำเดือน" ควรกินสมุนไพร-อาหารเสริมอะไรบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก็มักจะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน นอนหลับยาก ไม่สบายตัว และอื่นๆ ดังนั้น การกินยาจึงเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่ผู้หญิงบางคนอาจจะอยากได้วิธีการรักษาที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งก็มีอีกหนึ่งทางเลือก นั่นก็คือ สมุนไพรและอาหารเสริมสำหรับวัยหมดประจำเดือน แต่จะมีอะไรบ้าง Hello คุณหมอ ได้นำเรื่องนี้มาฝากกัน

อาการที่อาจเกิดขึ้น เมื่อคุณเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน

วัยหมดประจำเดือน (Menopause) คือ การลดลงตามธรรมชาติของการผลิตฮอร์โมนสืบพันธุ์ของเพศหญิงและรอบเดือนของผู้หญิง โดยปกติจะเริ่มในช่วง 45-50 ปี สำหรับอาการของวัยหมดประจำเดือนที่พบบ่อย ได้แก่

อาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักขึ้น อารมณ์ไม่ปกติ อารมณ์แปรปรวน การมีเพศสัมพันธ์ลดลง การนอนหลับไม่ดี สูญเสียกระดูก อาการปวดหัว ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การจัดการกับอาการเป็นหลัก ซึ่งมียาทางเภสัชกรรมหลายชนิดที่สามารถใช้ในการรักษาอาการที่เกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงของผลข้างเคียงอาจทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกใช้วิธีการรักษาแบบอื่นควบคู่ไปด้วย แทนที่จะใช้วิธีการรักษาแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งนี้ อย่าลืมปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลสุขภาพของคุณก่อนที่จะเพิ่มอาหารเสริมใด ๆ ในชีวิตประจำวันของคุณจะเป็นการดีที่สุด

สมุนไพร และอาหารเสริมสำหรับวัยหมดประจำเดือน

สำหรับสมุนไพรและอาหารเสริมสำหรับวัยหมดประจำเดือน ที่ใช้กันทั่วไปในการจัดการกับอาการวัยหมดประจำเดือนมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งได้แก่

  • แบล็คโคฮอช (Black cohosh)

แบล็คโคฮอช เป็นยาสมุนไพรของชาวอเมริกันพื้นเมือง ที่ใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ปัจจุบันมักใช้เพื่อบรรเทาอาการเหงื่อออกตอนกลางคืนและอาการร้อนวูบวาบที่เกี่ยวข้องกับวัยหมดประจำเดือน จากบทวิจารณ์ 2 ฉบับที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมากกว่า 8,000 คนสรุปได้ว่า มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะระบุได้ว่า แบล็คโคฮอชมีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอกในการรักษาอาการวัยหมดประจำเดือนหรือไม่ ซึ่งยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

ไม่แนะนำให้ใช้แบล็คโคฮอช หากคุณมีประวัติโรคตับและบางรายงานระบุว่า แบล็คโคฮอชอาจทำให้มีอาการไม่พึงประสงค์จากอาหารเสริมที่ปนเปื้อน ดังนั้น จึงควรเลือกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผ่านการทดสอบความบริสุทธิ์แล้วจะเป็นการดีที่สุด แต่ผลข้างเคียงของแบล็คโคฮอชค่อนข้างหากยาก แต่อาจจะมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อย ปวดท้อง และผื่นผิวหนัง

  • เรด โคลเวอร์ (Red Clover)

เรด โคลเวอร์ เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วย ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ทำหน้าที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และอาจช่วยบรรเทาอาการที่เกี่ยวข้องกับการลดลงของการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เกิดขึ้นกับวัยหมดประจำเดือน

เรด โคลเวอร์ มักใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันอาการวัยหมดประจำเดือนต่าง ๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน และการสูญเสียกระดูก จากการทบทวนการศึกษา 11 เรื่องในสตรีวัยหมดประจำเดือนพบว่า เรด โคลเวอร์ มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาหารร้อนวูบวาบมากกว่ายาหลอก อย่างไรก็ตามหลักฐานนี้ยังอ่อนและจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม จากการศึกษาที่เก่าแก่กว่า 2 ชิ้น แสดงให้เห็นว่า การได้รับไอโซฟลาโวนในปริมาณที่เหมาะสม อาจชะลอความสูญเสียมวลกระดูกในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเมื่อเทียบกับยาหลอก

ไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจมีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน คุณจึงไม่ควรกินเรด โคลเวอร์นานเกิน 1 ปี นอกจากนั้น การใช้สมุนไพรชนิดนี้ยังอาจไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนอื่น ๆ

  • ตังกุย (Dong Quai)

ตังกุยเป็นสมุนไพรที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับขึ้นฉ่าย แครอท และผักชีฝรั่ง และมีการเติบโตในพื้นที่ที่เย็นกว่าของจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ตังกุยมักใช้ในการแพทย์แผนจีน เพื่อสนับสนุนสุขภาพของผู้หญิงและรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome; PMS) และวัยหมดประจำเดือน

แม้ตังกุยจะได้รับความนิยม แต่ก็มีงานวิจัยในมนุษย์น้อยมากที่สนับสนุนประสิทธิภาพของตังกุยสำหรับอาการวัยหมดประจำเดือน

การศึกษาหนึ่งจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ในผู้หญิง 71 คนที่มีการเปรียบเทียบตังกุยกับยาหลอกพบว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในอาการร้อนวูบวาบหรือภาวะช่องคลอดแห้ง  แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมถึงสรรพคุณและการใช้ตังกุยต่อไป

โดยทั่วไปแล้วตังกุยปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ แต่อาจทำให้ผิวของคุณไวต่อแสงแดดมากขึ้น นอกจากนี้ยังอาจมีผลทำให้เลือดจางลง ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ตังกุยในหมู่ผู้ที่ใช้ยาเจือจางเลือด (Blood Thinner)

  • น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil)

เมล็ดของอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose) ใช้ทำน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส เพื่อรักษาอาการวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ และการสูญเสียกระดูก จากการศึกษาหนึ่งซึ่งมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้สรุปเอาไว้ว่า น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสไม่มีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอกในการบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาล่าสุดพบว่า น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสมีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของอาการร้อนวูบวาบ มากกว่ายาหลอกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เปรียบเทียบการเสริมแคลเซียมและอาหารเสริมน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส แคลเซียมและโอเมก้า 3 เพื่อหยุดการสูญเสียกระดูกในผู้หญิงวัยก่อนและหลังหมดประจำเดือน พบว่า ทั้ง 2 กลุ่มยังคงความหนาแน่นของกระดูกไว้ แต่อาหารเสริมน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรสไม่ได้มีประสิทธิภาพมากกว่าแคลเซียม

  • มาคา (MACA)

มาคา เป็นยาพื้นบ้านแบบดั้งเดิมมานานหลายศตวรรษ เพื่อรักษาโรคทางกายภาพ เช่น โรคโลหิตจาง ภาวะมีบุตรยาก ความไม่สมดุลของฮอร์โมน และอาการวัยหมดประจำเดือนบางอย่าง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ลดลง อารมณ์แปรปรวน และช่องคลอดแห้ง

สำหรับหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาคาสำหรับวัยหมดประจำเดือนมีจำกัดมาก อย่างไรก็ตามการศึกษาเล็ก ๆ จากแหล่งที่มาเชื่อถือได้ 2-3 ชิ้นระบุว่า มาคามีประสิทธิภาพมากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญในการเพิ่มแรงขับทางเพศและลดอาการทางจิต เช่น ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการบันทึกผลข้างเคียงที่สำคัญ แต่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยน้อยมาก และยังไม่มีการยืนยันว่ามาคารบกวนการใช้ยาหรือไม่ ดังนั้น คุณจึงควรตรวจสอบกับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณก่อนใช้ยาพื้นบ้านชนิดนี้

ยิ่งไปกว่านั้นด้วยความนิยมในการใช้มาคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีเสี่ยงต่อการปนเปื้อนและอาจปัญหาในการควบคุมคุณภาพระหว่างการผลิต หากคุณวางแผนที่จะใช้ โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่า คุณซื้อจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เพื่อสารสกัดหรือสมุนไพรที่มีความบริสุทธิ์และมีประสิทธิภาพ

  • ถั่วเหลือง

ถั่วเหลือง อุดมไปด้วยไอโซฟลาโวน ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิง และอาจส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนที่อ่อนแอในร่างกายของคุณ อาการวัยหมดประจำเดือนที่พบบ่อยหลายอย่างเกี่ยวข้องการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ดังนั้น ถั่วเหลืองอาจช่วยบรรเทาภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงได้ เนื่องจากถั่วเหลือง มีไอโซฟลาโวนที่มีคุณสมบัติคล้ายเอสโตรเจน

อาหารที่ทำจากถั่วเหลืองมีความปลอดภัยและให้ประโยชน์โดยทั่วไปหากคุณไม่ได้มีอาการแพ้ถั่วเหลือง อาหารที่ทำจากถั่วเหลืองที่ผ่านกระบวนการน้อยที่สุด เช่น ถั่วเหลือง เต้าหู้ มีสารอาหารที่ดีที่สุดและมีปริมาณไอโซฟลาโวนสูงสุด แต่ความปลอดภัยในการเสริมไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองในปริมาณสูงนั้นมีความแน่นอนน้อยกว่า ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดท้อง และท้องร่วง ดังนั้น จึงควรปรึกษาผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณก่อนที่จะเพิ่มอาหารเสริมไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองในชีวิตประจำวันของคุณ

อาหารที่ทำจากถั่วเหลือง มีความปลอดภัยและเป็นประโยชน์โดยทั่วไปหากคุณไม่ได้มีอาการแพ้ถั่วเหลือง

  • เมล็ดแฟลกซ์ (Flax seed)

สารประกอบในเมล็ดแฟลกซ์ มีโครงสร้างและหน้าที่ทางเคมีคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน บางครั้งมีการใช้เมล็ดแฟลกซ์ เพื่อบรรเทาอาการวัยหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ และการสูญเสียมวลกระดูก เรื่องจากมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน นอกจากนั้นเมล็ดแฟลกซ์ยังช่วยลดความถี่และระยะเวลาของอาการร้อนวูบวาบได้ด้วย

เมล็ดแฟกซ์อุดมไปด้วยสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์และถือว่าปลอดภัยมาก นี่จึงถือเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มปริมาณไฟเบอร์และไขมันที่ดีต่อสุขภาพ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่ออาการของวัยหมดประจำเดือน

  • โสม (Ginseng)

โสมเป็นหนึ่งในยาสมุนไพรที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และถูกใช้ในการแพทย์แผนจีนมานานหลายศตวรรษ ซึ่งมันช่วยเพิ่มการทำงานของภูมิคุ้มกัน สุขภาพหัวใจ และระดับพลังงาน โสมนั้นมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยโสมแดงเกาหลี (Korean red ginseng) มีการศึกษาบ่อยที่สุดเกี่ยวข้องกับอาการวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน

การศึกษาในปีค.ศ. 2016 จากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ ชี้ให้เห็นว่า โสมแดงของเกาหลีอาจช่วยกระตุ้นการมีเพศสัมพันธ์และทำให้อารมณ์ดีขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอีก สำหรับผลข้างเคียงของโสมที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นที่ผิวหนัง ท้องร่วง เวียนศีรษะ นอนหลับยาก และปวดศีรษะ เป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังอาจทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ดังนั้นโสมจึงอาจไม่เหมาะสมกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

โสมยังอาจมีปฏิกิริยาในทางลบกับความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และยาลดความอ้วน ดังนั้น ควรปรึกษาผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพของคุณก่อนที่จะลองใช้โสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังใช้ยาเกี่ยวกับความดันโลหิต คอเลสเตอรอล และยาลดความอ้วน

สำหรับผู้หญิงหลายคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนอาจทำให้เกิดอาการทางร่างกายและจิตใจ เช่น ร้อนวูบวาบ นอนหลับยาก วิตกกังวลและซึมเศร้า การใช้ยารักษาถือเป็นวิธีรักษาที่ได้ผลที่สุด แต่ผู้หญิงหลายคนอาจจะอยากใช้ทางเลือกที่เป็นธรรมชาติมากกว่า ดังนั้น ก่อนที่จะใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริม คุณควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณในระยะยาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook