กิน "ไข่" ทำให้ "แผลเป็นนูน" จริงหรือไม่?
ความเชื่อที่ว่า “ไข่” หากกินตอนที่เป็นแผลอยู่ จะทำให้เกิดรอยแผลเป็นนูน ไม่สวยงาม จริงหรือไม่?
แผลเป็น เป็นที่สิ่งที่หลายคนไม่อยากมี เพราะทำให้เกิดความไม่สวยงามบนเรือนร่าง จนอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ จึงมีความพยายามที่จะรักษาแผลที่เกิดขึ้นโดยไม่ให้เกิดรอยแผลเป็น แต่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า หากกินไข่ในช่วงที่เป็นแผล อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นนูนๆ ขึ้นมาได้ เรื่องนี้จริงเท็จอย่างไร Sanook Health มีคำตอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาฝากกัน
แผลเป็นนูน เกิดขึ้นได้อย่างไร?
แผลเป็นนูน มี 2 ชนิด คือ
- แผลเป็นนูนเกิน แผลจะนูนขึ้นมาแต่ไม่ขยายเกินขอบเขตของบาดแผล เมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถกลับมาใกล้เคียงกับแผลเป็นปกติได้ภายใน 1 ปี ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
- แผลเป็นคีลอยด์ แผลจะนูนขึ้นมาและขยายเกินขอบเขตของบาดแผลเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วแผลจะนูนและใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลา แผลเป็นชนิดนี้มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อ และคอลลาเจนเพื่อซ่อมแซมบาดแผลมากเกินไป อีกทั้งพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลเป็นคีลอยด์เช่นกัน
กิน "ไข่" ทำให้ "แผลเป็นนูน" จริงหรือไม่?
การรับประทานไข่จึงไม่เกี่ยวข้องกับการเกิดแผลเป็นนูน ระหว่างเกิดบาดแผลสามารถรับประทานไข่ได้ในปริมาณที่เหมาะสม
วิธีลดความเสี่ยงเกิดแผลเป็นนูน
การดูแลแผลอย่างถูกวิธีจะช่วยลดการขยายตัวและการนูนตัวของแผลเป็นได้ และสามารถลดการขยายตัว และการนูนของแผลเป็นโดยการนวดบริเวณแผลเป็นเป็นประจำในระหว่าง 6 เดือนแรก
การรักษาแผลเป็นนั้นสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัด ใช้สเตียรอยด์แบบฉีด ซึ่งวิธีเหล่านี้ต้อง
อยู่ในความดูแลของแพทย์ สำหรับวิธีที่สามารถดูแลแผลเป็นด้วยตัวเองโดยการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็นได้แก่
- แผ่นซิลิโคน (Silicone) ใช้หลังเกิดแผลสดหายดีแล้ว โดยปิดแผลเป็นตลอด 24 ชั่วโมงนาน 3 เดือน
- แผ่นเทปเหนียว (Microporous) ใช้ปิดลงบนแผลเป็น
อุปกรณ์ทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ สามารถซื้อและขอรับคำปรึกษาในการใช้แผ่นแปะลดรอยแผลเป็นจากเภสัชกรได้ตามร้ายขายยาทั่วไป แนะนำให้เลือกซื้อแผ่นแปะที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสังเกตเลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ก่อนซื้อทุกครั้ง
หากแผลเป็นนูนที่เกิดขึ้นสร้างความไม่สบายใจสามารถปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมได้