ทำไมถึง “สะอึก” เมื่อ "กินเผ็ดจัด"?

ทำไมถึง “สะอึก” เมื่อ "กินเผ็ดจัด"?

ทำไมถึง “สะอึก” เมื่อ "กินเผ็ดจัด"?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาการสะอึก เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ชอบมาเยือนเราบ่อยๆ ด้วยความที่อาการนี้น่ารำคาญ กว่าจะหายเล่นทำเอาเราเหนื่อย ทำให้ต่างคนต่างก็พยายามหาวิธีรับมือกับมันต่างกันไป ตั้งแต่ดื่มน้ำ กลั้นหายใจ ทำให้ตัวเองตกใจ และอีกสารพัดวิธีที่หาทำเพื่อให้หายสะอึก ส่วนใหญ่แล้วอาการสะอึกจะหายได้เองหลังจากเวลาผ่านไปสักระยะ แต่ก็มีอยู่บ้างเหมือนกันกับคนที่สะอึกไม่หยุด สะอึกไม่หายเสียที

ส่วนใหญ่ อาการสะอึกมักจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมักจะมาแบบไม่ทันตั้งตัว แต่นอกจากอาการสะอึกจะมาได้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ยแล้ว หลายคนยังสงสัยหนักมาก ว่าทำไมตนเองจะต้องสะอึกทุกครั้งหลังจากกินอาหารที่มีรสชาติเผ็ดจัดๆ ดังนั้น Tonkit360 จะพาทุกคนไปไขปริศนาว่าทำไม “คนบางคนถึงสะอึกทุกครั้งที่กินอาหารเผ็ด”

อาการสะอึกเกิดจากอะไร

อาการสะอึก ถือเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยทั่วไปอาการสะอึกไม่ได้อันตราย หากเป็นก็ไม่มีอะไรต้องกังวลใจ เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสะอึกนั้น มักเป็นผลมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ส่วนใหญ่คือพฤติกรรมที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาการสะอึกไม่นานก็หายได้เอง แต่ระหว่างที่กำลังเป็นอยู่นั้นกลับน่ารำคาญ และทรมานไม่น้อยหากอาการที่ว่านี้อยู่นาน

การสะอึก เกิดขึ้นโดยมีอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้อง 2 ส่วน คือ กระเพาะอาหารและกะบังลม กลไกเกิดขึ้นเมื่อกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจนทำงานผิดปกติแบบฉับพลัน ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงอย่างกะบังลม ที่อยู่ระหว่างช่องอกกับช่องท้องหดเกร็งอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน การหดตัวนี้จะส่งผลให้เราหายใจเข้าอย่างเร็ว แต่อากาศที่เข้ามานั้นถูกกักโดยเส้นเสียงที่อยู่บริเวณลำคอ ที่ปิดลงทันทีจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ทำให้มีเสียงสะอึกเป็นจังหวะ อึ๊กๆ ออกมา

โดยทั่วไป การสะอึกจะมี 2 แบบ คือ สะอึกระยะสั้นๆ ที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ไม่นานก็หาย มักอยู่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง แต่ถ้านานกว่านั้น จะเป็นสะอึกแบบต่อเนื่อง ซึ่งการสะอึกชนิดหลังนี้ไม่ได้พบบ่อย และหากอาการเข้าขั้นนี้ก็ควรเข้ารับการรักษา เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกปัญหาสุขภาพอยู่ก็ได้

พฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำให้เกิดการสะอึก

  • กินอาหารมากหรือเร็วเกินไป
  • ดื่มเครื่องดื่มหรือกินอาหารที่มีแก๊สเยอะ
  • ชอบเคี้ยวหมากฝรั่งหรืออมลูกอม
  • กินอาหารรสเผ็ดจัด
  • กินของร้อน เย็น สลับกันทันที
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ความเครียดทางอารมณ์ ตื่นเต้น กลัว ประหม่า
  • การหัวเราะ หรือร้องไห้สะอื้นผิดจังหวะ

อาการสะอึกที่เกิดขึ้นเมื่อกินอาหารเผ็ด

ความรู้สึกเผ็ดที่เรารับรู้ได้หลังจากกินพริกนั้น เกิดจากสารแคปไซซิน (capsicin) ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงคาดเดาเกี่ยวกับกลไกของแคปไซซินที่เกี่ยวข้องกับการสะอึกอยู่ แต่ที่เกี่ยวข้องแน่ๆ ก็คือ ความรู้สึกเผ็ดนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการสะอึก เช่น กะบังลม และกระเพาะอาหาร ส่งผลให้เกิดกาหดเกร็งชั่วคราว แล้วเป็นอาการสะอึกดังที่อธิบายไปแล้ว

สรุปง่ายๆ ก็คือ อาการสะอึกเกิดขึ้นจากอวัยวะอย่างกระเพาะอาหารหรือกะบังลมเกิดอาการระคายเคือง ทำให้มีการหดเกร็งอย่างฉับพลันชั่วคราว แล้วก็เพราะสารให้ความเผ็ดร้อนในพริกอย่างแคปไซซินที่แหละ ที่เป็นสาเหตุให้กระเพาะอาหารมีอาการระคายเคือง ทีนี้ก็หายสงสัยได้แล้วว่าทำไมเวลากินเผ็ดจัดๆ กะทันหัน จึงทำให้มีอาการสะอึกตามมาในทันที

วิธีหยุดอาการสะอึก

บอกก่อนว่าไม่ใช่ว่าทุกคนที่ทำวิธีเหล่านี้แล้วจะหายจากอาการสะอึกได้ ดังนั้น วิธีที่รวบรวมมาทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่เคยมีคนทำแล้วได้ผล ส่วนตัวเราเองนั้นจะหายไหม หายด้วยวิธีไหน คงต้องทดลองทำด้วยตัวเอง ด้วยวิธีเหล่านี้

  • หายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นไว้ประมาณ 20 วินาที
  • ฝืนตัวเอง แลบลิ้นออกมาให้ยาวที่สุด
  • โดยใช้ถุงกระดาษครอบปากและจมูก แล้วหายใจผ่านถุงกระดาษ
  • กลั้นหายใจแล้วกลืนน้ำเร็วๆ (ระวังสำลัก)
  • ดื่มน้ำด้วยการจิบทีละนิดไปเรื่อยๆ
  • ดื่มน้ำท่ายาก คือ ก้มตัวจิบน้ำจากปากแก้วฝั่งตรงข้าม
  • ทำให้เกิดอาการตกใจ
  • เบี่ยงเบนความสนใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook