10 ปัจจัยเสี่ยง “อาการวูบ” ขณะออกกำลังกาย
อาการวูบขณะออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเคยมีกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยมักจะคลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย มองเห็นผิดปกติ หรืออาจเห็นภาพเป็นสีขาว-สีดำก่อนจะวูบ
นอกจากนั้น อุณหภูมิของร่างกายก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ตัวเปียกชื้นไปด้วยเหงื่อโดยกะทันหัน ชีพจรเต้นอ่อน หัวใจเต้นเร็ว หรือเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ และล้มลงในที่สุด
สาเหตุ และปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการวูบขณะออกกำลังกาย
เกิดจากเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอในช่วงเวลาสั้น ๆ หรืออาจเกิดจากมีเนื้องอกในสมอง ระบบการทรงตัวเกิดความผิดปกติ สมองทำงานผิดปกติ หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการวูบมีดังนี้
- อายุ
อายุเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เกิดโรควูบโดยไม่รู้ตัว อวัยวะทุกอย่างจะเจริญเต็มที่เมื่ออายุ 30 ปี แต่หลังจากนั้นจะเริ่มเสื่อมไปเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้นเส้นเลือดจะตีบลง เลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจก็จะลดลงตามไปด้วย ฉะนั้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นแต่ยังออกกำลังกายหนักเท่าเดิม ก็จะทำให้เกิดอาการวูบขณะออกกำลังกาย และหากรุนแรงอาจเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ดังนั้นคนสูงอายุจะต้องออกกำลังกายให้เพียงแต่พอดี และอย่าหักโหมมากจนเกินไป
- โรคประจำตัว
โรคประจำตัวเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการวูบขณะออกกำลังกายได้ นั่นก็คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน โลหิตจาง โรคอ้วน ลมบ้าหมู เป็นต้น โดยคนที่มีโรคประจำตัวหรืออาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นโรคเหล่านี้ ความจริงแล้วคุณยังสามารถออกกำลังกายได้แต่ต้องไม่หนักเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ออกกำลังกายด้วยวิธีแอโรบิกแบบถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น ยังช่วยในการรักษาโรคได้อีกด้วย ทั้งนี้หากอยากออกกำลังกายในรูปแบบอื่น ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดอาการวูบหรือเกิดความเสี่ยงต่อชีวิต
- ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
การดื่มเหล้าในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม และส่งผลต่ออวัยวะภายใน อันได้แก่ ตับ ระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะถูกทำลาย ผู้ที่ดื่มเหล้าก่อนไปออกกำลังกาย แอลกอฮอล์ที่เข้าไปในร่างกายนั้น จะทำให้เลือดสูบฉีดมากและระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง จนเกิดอาการหน้ามืดหรือวูบได้ ส่วนการสูบบุหรี่ที่มีสารพิษอยู่หลายชนิด ได้แก่ ทาร์ นิโคติน และคาร์บอนมอนอกไซด์ สารเหล่านี้มีฤทธิ์กระตุ้นทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูง จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และร่างกายขาดออกซิเจนได้ ทั้งนี้หากสูบบุหรี่ก่อนออกกำลังกาย จะทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้นจนอาจขาดอากาศหายใจตาย หรือเป็นลมและวูบได้
- อากาศ
มลพิษในอากาศ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ควันพิษ สารพิษ สามารถทำอันตรายกับคนที่ออกกำลังกายได้ ถ้าปริมาณมากพอก็อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หน้ามืดและวูบในที่สุด รวมถึงการออกกำลังกายในอากาศที่เย็นจัดหรือร้อนจัด จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างเฉียบพลัน จนทำให้เกิดอาการวูบได้เช่นกัน หรืออาจส่งผลร้ายแรงยิ่งกว่านั้นคือถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ฉะนั้นแล้วควรไปออกกำลังกายในที่ที่อุณหภูมิปกติและคงที่
- การติดเชื้อ
การติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะในระบบหายใจ เช่น เป็นหวัด หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม จะทำให้การหายใจลดลง และร่างกายขาดออกซิเจน ในการออกกำลังกายจำเป็นต้องการออกซิเจนมากขึ้น แต่เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น ก็จะทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนจนถึงขั้นวูบได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น หากมีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรง ควรดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยให้หายดีก่อนออกกำลังกาย หรือปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีออกกำลังกายในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม
- แรงฮึดสอง
จริง ๆ แล้วแรงฮึดสอง จะเกิดขึ้นในระยะแรกของการออกกำลังกาย กล่าวคือ พอเริ่มออกกำลังกายจะมีการใช้พลังงาน ชนิดไม่ต้องอาศัยออกซิเจนประมาณ 2-3 นาที แต่ถ้ายังออกกำลังกายต่อไป จะต้องเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ต้องอาศัยออกซิเจนแทน ฉะนั้นในช่วงเวลานั้นเองคนที่ออกกำลังกาย จะรู้สึกเหมือนหมดแรงถึงขั้นวูบหรือเป็นลมได้ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่เป็นลมนั้น เมื่อระบบพลังงานที่ใช้ออกซิเจนเริ่มกลับมาทำงาน ก็จะหายเหนื่อยและออกกำลังกายต่อไปได้
- แพ้เหงื่อ
โรคภูมิแพ้ต่อการออกกำลังกาย บางคนไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าแพ้เหงื่อ แพ้สารที่เกิดในร่างกายจากการออกกำลังกาย ซึ่งเมื่อออกกำลังกายไปพักหนึ่งก็จะทำให้เกิดอาการแพ้ จนถึงขั้นวูบเป็นลมหรือเกิดหอบหืดขึ้นได้ ซึ่งในผู้ที่แพ้เหงื่อตัวเอง ควรออกกำลังกายแค่แต่พอดีและควรหยุดออกกำลังกายทันที หากเริ่มมีผื่นลมพิษขึ้นตามผิวหนัง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูง สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หรือออกกำลังกายในที่ที่อุณหภูมิเหมาะสม
- ชุดออกกำลังกาย
ชุดออกกำลังกายถ้าไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศ อาจจะทำให้วูบได้เช่นกัน ยกตัวอย่าง ในภูมิประเทศที่อากาศร้อน กลับใส่เสื้อวอร์มหนาๆ ออกกำลังกาย ทำให้ความร้อนในร่างกายที่เกิดจากการออกกำลังกายระบายออกไม่ได้ อุณหภูมิของร่างกายจึงสูงขึ้นมาก หรือในมุมกลับกันอากาศเย็นจัด แต่ใส่เสื้อผ้าไม่เพียงพอไปออกกำลังกาย จึงไม่สามารถป้องกันความเย็นจากภายนอกได้ จนทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้
- การใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาโด๊ป หากยาหมดฤทธิ์ขณะออกกำลังกาย ก็จะทำให้หมดแรงตรงนั้นทันที จนเกิดอาการวูบและเพลียจนหลับได้ ในยาบางชนิดจะมีฤทธิ์ที่ไปกดผลของการออกกำลังกายต่ออุณหภูมิและความดันโลหิตไว้ ฉะนั้นอาจจะทำให้อุณหภูมิสูงมากเกินไปจนความดันโลหิตไม่เพิ่ม ในขณะที่ร่างกายต้องการเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ มากขณะออกกำลังกาย จึงเป็นผลทำให้สมองหรือหัวใจขาดเลือดและทำให้วูบได้
- ที่สูง
บนพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 3,000 เมตร ออกซิเจนในอากาศจะน้อยลงมาก ถึงขนาดทำให้คนมึนงง เวียนหัว และสติฟั่นเฟือนหมดสติได้ ถ้าความสูงน้อยกว่านี้จะมีผลให้การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ทำได้น้อยลงตามปริมาณออกซิเจนที่น้อยลง สำหรับผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ไปพักตากอากาศบนภูเขา แล้วเช้าๆ ไปวิ่งออกกำลังกายอาจจะวูบไปได้โดยง่ายเช่นกัน