ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือน โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือน โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

ความเชื่อผิดๆเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือน โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณผู้หญิงต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน อย่างน้อยๆก็อาการไม่สบายดัว หรือปวดประจำเดือนมาทุกเดือนก็แล้ว บางท่านก็เคยได้ยินเรื่องเล่าต่างๆที่ทำให้คุณภาพชีวิตในช่วงนั้นแย่จริงๆเลยใช่ไหมครับ ลองมาฟังความจริงที่ควรรู้ เพื่อที่จะได้เข้าใจและมีความสุขในครั้งหน้าที่มีประจำเดือนดีไหมครับ

ประจำเดือนคือเลือดเสียที่ร่างกายขับออกมาทุกเดือนใช่หรือไม่

ไม่ใช่ครับ ความจริงก็คือเลือดประจำเดือนคือเยื่อบุผนังมดลูกที่หลุดออกมาปนกับเลือดจากเส้นเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเยื่อบุผนังมดลูก แต่ที่เห็นเป็นสีดำคล้ำ เนื่องจากเลือดออกน้อยและมาตกค้างอยู่ในช่องคลอด ก่อนที่จะไหลออกสู่ภายนอก จึงกลายเป็นสีคล้ำและเหมือนเลือดเก่า ปกติประจำเดือนจะเป็นน้ำเลือด จะไม่เป็นก้อนหรือลิ่มเลือด แต่อาจมีลิ่มเลือดได้ในกรณีที่มีเลือดออกมากๆ

ถ้างั้นมีประจำเดือนออกมาน้อย แสดงว่าเลือดเสียสะสมอยู่ในร่างกายนะซิ

ความจริงก็คือปริมาณเลือดที่ไหลออกมาแต่ละเดือน มักจะมาสม่ำเสมอในปริมาณที่เท่าๆกันในแต่ละรอบเดือน แต่ถ้าเวลาเครียดหรือมีปัจจัยทางสุขภาพที่ไปรบกวนระบบสมดุลของฮอร์โมนที่ไปควบคุมระบบสืบพันธุ์ จะมีผลกระทบทำให้เลือดประจำเดือนมีปริมาณมากหรือน้อยก็ได้ครับ

ถ้าประจำเดือนออกมาน้อย ต้องหายาสตรีมารับประทานเพื่อขับเลือดให้ออกมาเยอะๆ ใช่ไหม

อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าปริมาณประจำเดือนจะขึ้นอยู่กับสุขภาพและอารมณ์ ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องหายาน้ำสตรีหลากหลายยี่ห้อมารับประทานเพื่อขับประจำเดือนออกมาแต่อย่างใด ความจริงแล้วยาน้ำสตรีเหล่านี้จะมีส่วนผสมของสมุนไพรที่มีผลไปเร่งการบีบตัวของมดลูกบ้าง และปริมาณแอลกอฮอลล์ที่เป็นส่วนผสมก็มีปริมาณความเข้มข้นสูง ในบางยี่ห้ออาจเทียบได้กับกินเบึยร์เลยครับ คุณผุ้หญิงบางคนพอดื่มเข้าไปแล้วก็รู้สึกวูบวาบเพลินๆดีครับ ถ้าไม่กินมากจนเกินไปแทน

เวลามีประจำเดือน ห้ามอาบน้ำเย็นเดี๋ยวไข้จับ

เวลามีประจำเดือนนั้น ฮอร์โมนเพศในร่างกายผู้หญิงจะแปรปรวน ไม่สมดุล อาจมีผลทำให้คุณผู้หญิงที่สุขภาพไม่ค่อยดีอยู่แล้ว จะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง การอาบน้ำเย็นอุณหภูมิต่ำๆ เย็นจนเกินไป หรือแช่น้ำเย็นนานๆ จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายต้องปรับตัวลดลงตามไปด้วย บางครั้งอาจเกิดการเจ็บป่วยได้ แต่ความจริงก็คือคุณสามารถอาบน้ำอุณหภูมิปกติธรรมดาที่ไม่เย็นจัดได้ หรือเลือกอาบน้ำอุ่นในช่วงนั้นก็ได้ หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว รีบสวมใส่เสื้อผ้าให้อบอุ่นเท่านั้นก็เพียงพอ

เวลามีประจำเดือน ห้ามรับประทานน้ำแข็ง หรือของอะไรที่เย็นๆ

เป็นข้อห้ามแบบเดียวกับการอาบน้ำเย็นนั่นแหละครับ จากการสัมภาษณ์พบว่าในคุณผู้หญิงบางคนระบุว่าทำให้ประจำเดือนออกน้อยลง และมีอาการปวดท้องมากกว่าธรรมดา ทั้งนี้อาจเกิดจากมดลูกบีบตัว ความจริงก็คือถ้าสุขภาพดี รับประทานได้ไม่มีผลอย่างไร

ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนขณะมีประจำเดือนจะมีผลทำให้ประจำเดือนหยุดหรือกลายเป็นประจำเดือนกะปริบกะปรอยและทำให้มีประจำเดือนครั้งต่อไปล่าช้ากว่าปกติ

โดยทั่วไปไม่ห้ามรับประทาน ความจริงก็คือน้ำมะพร้าวจะมีสารอาหารแบบเดียวกับฮอร์โมนเพศ มีผลต่อประจำเดือนได้ อาจทำให้ประจำเดือนหยุด แต่ไม่เป็นทุกคนทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณน้ำมะพร้าวที่ดื่ม ปริมาณฮอร์โมนในน้ำมะพร้าวแต่ละลูกซึ่งไม่เท่ากัน และการตอบรับต่อร่างกายของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน

ห้ามออกกำลังกายเป็นอันขาด เวลามีประจำเดือน

เป็นความเชื่อผิดๆ แน่นอนในกรณีนี้ เพราะในเวลาที่มีประจำเดือนนั้น เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกตัวออกมาจะมีสารที่เรียกว่า โพรสตาแกลนดิน ออกมาด้วย สารนี้จะทำให้มดลูกบีบรัดตัวรุนแรงจนปวดประจำเดือน ถ้าหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอแล้วก็จะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า เอ็นโดฟิน ออกมา สารนี้บางทีเรียกว่า สารแห่งความสุขเพราะจะทำให้เกิดความสุข ผ่อนคลาย หายเครียดตามมากลับดีซะอีกครับ

ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในเวลามีประจำเดือน

ไม่ใช่ข้อห้ามหรอกครับ เพราะถ้ามีเพศสัมพันธ์อย่างสุขสม ก็อาจทำให้อารมณ์ดีและหายปวดประจำเดือนไปได้เหมือนกัน ความจริงก็คือควรจะระวังเรื่องของความสะอาดให้มากกว่าปกติเท่านั้นเพราะการติดเชื้อจะเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงนี้และอาจทำให้ลุกลามเข้าไปในมดลูกได้

ถ้าจะมีอะไรกันในช่วงเวลานั้นแล้ว ขอให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง หรือถ้าอยากจะมีสัมผัสรักโดยไม่มีอะไรมากางกั้น คุณผู้ชายอย่าลืมฟอกล้างทำความสะอาดส่วนนั้นของตนเองให้สะอาดดีเสียก่อน ค่อยบรรเลงเพลงรัก และควรจะจบบทรักลงด้วยการหลั่งภายนอกจะสะอาด และปลอดภัยกว่าสำหรับเธอ

ห้ามอาบน้ำในคลองและในทะเล ในระหว่างมีประจำเดือน

ความเชื่อเรื่องนี้ เหตุผลคงจะอยู่ที่ว่าน้ำในแม่น้ำลำคลองรวมทั้งทะเลนั้น อาจจะไม่สะอาดพอ เนื่องจากมีของสกปรกหรือน้ำเสียไหลลงไปปนเปื้อน เชื้อโรคในน้ำดังกล่าว อาจหลุดเข้าไปในช่องคลอดและผ่านปากมดลูกที่เปิดให้ประจำเดือนไหลออกมา เข้าไปภายในโพรงมดลูก ทำให้เกิดการติดเชื้อจนช่องคลอดอักเสบตามมาได้ง่าย ดังนั้นจึงได้ห้ามลงไปอาบแบบแช่ จึงควรตักอาบเอาก็ได้นะครับ แบบนี้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

แต่ถ้าจะอาบหรือว่ายน้ำ ก็ขอให้เลือกสระว่ายน้ำที่สะอาด และควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยที่สะอาดหรือจะสอดผ้าอนามัยชนิดสอดที่เรียกกันว่า แทมพอน ไว้ด้วย เพื่อซึมซับเลือดประจำเดือนไม่ให้ไหลออกมาปนเปื้อนกับน้ำในสระ

สำหรับสาวๆนักดำน้ำ ก็ให้รักษาความสะอาดของร่างกาย ใส่ผ้าอนามัยที่สะอาดและเปลี่ยนบ่อยๆ เมื่อรู้สึกรำคาญตัวก่อนลงทะเลก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

รับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนทุกเดือนจะเป็นอันตรายหรือไม่

ควรหาสาเหตุก่อนว่าเป็นอาการปวดประจำเดือนที่ผิดปกติหรือไม่ หากอายุ 30 ปีขึ้นไป ปวดประจำเดือนตลอดระยะเวลาของการมีประจำเดือน และอาการปวดทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกเดือนให้ปรึกษาแพทย์ทันที แต่ถ้าอายุไม่เกิน 30 ปีหรืออายุยังน้อย มีอาการปวดเฉพาะวันแรกให้รับประทานยาแก้ปวดได้ ปัจจุบันมียาแก้ปวดประจำเดือนโดยเฉพาะ ซึ่งจะไปลดสารที่หลั่งออกมาจากมดลูกซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรงของอาการปวดประจำเดือน ยานี้ค่อนข้างได้ผลดี แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ เพราะอาจแพ้ยาได้ ยาตัวนี้ควรกินพร้อมอาหารเพราะมีผลไประคายเคืองต่อทางเดินอาหารได้

เขียนและเรียบเรียงโดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล

แหล่งข้อมูล

องค์กรแพทย์ รพ.ศรีนครินทร์, น้ำมะพร้าวอ่อน’ ยาชะลอ อัลไซเมอร์ ฝีมือนักวิจัย มอ. ,24 ตุลาคม 2550
เอมอร คชเสนี, ประจำเดือนของคุณปกติดีไหม, ผู้จัดการคุณภาพชีวิต, 23 กุมภาพันธ์ 2549
น.พ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์, เรื่องนั้นของผู้หญิง, เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 8 ฉบับ 429 20-26 สิงหาคม 2543
สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย, เอกสารให้ความรู้ อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรี

ภาพประกอบจาก istockphoto

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook