ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับภาวะ "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน"

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับภาวะ "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน"

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับภาวะ "หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจหรือการทำหน้าที่ที่ผิดปกติ ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือลำเลียงเลือดเข้าสู่หัวใจได้เป็นปกติ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาวะหัวใจล้มเหลวแบบเฉียบพลัน และภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ซึ่งหากมีภาวะเรื้อรังแล้วก็ส่งผลมาถึงภาวะเฉียบพลันได้

ซึ่งแตกต่างจากภาวะหัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest) เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่หัวใจสูบฉีดเลือดได้ลดลง ทำให้การไหลเวียนเลือดเข้าออกหัวใจทำได้ไม่ดีพอ หัวใจจะทำงานหนักขึ้นเพื่อพยายามสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เป็นปกติ แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ กล้ามเนื้อหัวใจที่ทำงานหนักขนาดนี้จะค่อยๆ อ่อนล้าลง จนสูบฉีดเลือดไม่ได้อีกต่อไป

ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นมีอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. หัวใจห้องล่างขวาล้มเหลว (Right-sided heart failure) ปกติหัวใจห้องล่างขวาจะทำหน้าที่รับเลือดจากร่างกายส่งไปยังปอด หากเกิดภาวะนี้จะทำให้ของเหลวในร่างกายคั่ง เกิดอาการบวมของเท้า ตับโต แน่นท้อง

  2. หัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลว (Left-sided heart failure) โดยปกติหัวใจห้องล่างซ้ายทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย หากเกิดภาวะนี้จะทำให้เลือดคั่งในปอด (น้ำท่วมปอด) ร่วมกับมีอาการบวมที่เท้าได้ เพราะโดยส่วนมากแล้วโรคหัวใจล้มเหลวมักจะมีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจทั้งสองด้าน

ดังนั้น อาการหลักๆ ของภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย และมีอาการที่สังเกตได้ชัดคือ อาการบวม อาการป่วยนี้จึงถือเป็นภาวะเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาลและรักษาตัวทันที เพราะการรักษาจะต้องมุ่งเน้นการรักษาแบบฉุกเฉิน เพื่อช่วยเรื่องการไหลเวียนเลือดและการหายใจ ในการช่วยเหลือชีวิตไว้ให้ทันเวลา นี่คือ 5 ความเชื่อผิดๆ ที่เกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน

  1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันพบในผู้สูงอายุเท่านั้น

ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันพบมากในผู้สูงอายุก็จริง แต่ก็ใช่ว่าคนอายุน้อยๆ จะปลอดภัยจากภาวะนี้ได้ ด้วยมองว่าตนเองอายุยังน้อย ร่างกายแข็งแรงดีจึงไม่เสี่ยงที่ป่วยด้วยภาวะนี้ โดยสามารถพบได้ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ในผู้ที่อายุยังน้อย ที่สำคัญคือมีโอกาสเสียชีวิตได้เหมือนกัน ยิ่งเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น เป็นโรคอ้วน มีภาวะไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย และผู้ที่มีโรคประจำตัว ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการมากกว่าผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นผู้ที่อายุน้อยก็อย่าชะล่าใจ

  1. ร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีทางหัวใจล้มเหลวได้หรอก

ต้องบอกว่าร่างกาย “ดูเหมือน” แข็งแรงดีมากกว่า เราต่างก็ใช้ชีวิตประจำวันโดยที่ไม่รู้ว่าตนเองมีภาวะป่วยอะไรแอบแฝงหรือไม่ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวอาการแรกเริ่มจะมีอาการเล็กน้อย ที่ทำให้เข้าใจไปเองว่าอาจเป็นอาการเจ็บป่วยชั่วคราว กินยาพักผ่อนก็หาย แต่ความจริงแล้วอย่างที่กล่าวไปตอนต้น ว่าภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ใช่ภาวะที่หัวใจหยุดเต้น แต่เป็นภาวะที่หัวใจสูบฉีดเลือดได้ลดลง โอกาสที่คนที่ดูแข็งแรงดีจะป่วยก็มีอยู่ ดังนั้น การรู้ว่าตนเองมีภาวะของโรคอะไรแอบแฝงหรือไม่จึงสำคัญ ไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพประจำปี

  1. ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันออกกำลังกายไม่ได้นะ

การออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพแข็งแรง และกล้ามเนื้อหัวใจก็เหมือนกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกาย โดยช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง เลือดไหลเวียนดี ควบคุมน้ำหนักและความดันโลหิตได้ เพียงแต่ต้องออกกำลังกายให้เหมาะกับสภาพร่างกาย ดังนั้น ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะนี้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติทุกประการ เพียงแต่ต้องสนใจสัญญาณเตือนร่างกายให้มากขึ้น โดยเฉพาะการจัดสรรพลังงานที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด การหักโหมจนตัวเองเหนื่อยมากๆ ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย

  1. ตัวบวม ช่วงนี้คงแค่อ้วนขึ้น

นี่เป็นสัญญาณเตือนที่ร่างกายแสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีโอกาสที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เรียกว่า “อาการบวมน้ำ” ที่ร่างกายจะมีภาวะคั่งน้ำและเกลือในเนื้อเยื่อของอวัยวะภายใน มีน้ำในช่องท้อง ตับ ม้ามโตขึ้น มีอาการท้องอืด ท้องโต ซึ่งถ้าลองกดดูบริเวณนั้นจะบุ๋มค้างนาน ผู้ที่มีภาวะนี้จึงต้องดื่มน้ำให้น้อยลง และลดอาหารที่มีเกลือในปริมาณสูง เพราะนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายสะสมของเหลว หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดได้ยากขึ้น มีโอกาสทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้

  1. เป็นแล้วโอกาสตายสูง

ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคน ซึ่งก็มีความเสี่ยงมากน้อยไม่เท่ากัน จึงไม่ได้หมายความว่าถ้ามีอาการแล้วจะตายทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองด้วย โดยผู้ป่วยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงก็ต้องลด ละ เลิก และควรบอกคนใกล้ตัวไว้ เมื่อมีอาการจะได้ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที ปัจจุบันการรักษาก้าวหน้ามากพอที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่นานขึ้น อย่างต่ำก็ 5 ปี การดูแลร่างกายจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะบรรเทาความรุนแรงของอาการ อาจไม่หายขาด แต่ช่วยให้การพยากรณ์โรคเป็นไปในทิศทางดีขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook