"กลั้นปัสสาวะไม่อยู่" เรื่องไม่เล็ก และไม่ควรมองข้าม
หลายคนอาจจะมีความเข้าใจว่า ปัญหาสุขภาพอย่างเรื่องกลั้นปัสสาวะไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเท่านั้น จริงๆ แล้วผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง
โรคซึมเศร้า ก็อาจทำให้เกิดภาวะ “กลั้นปัสสาวะไม่อยู่” ได้ด้วยเหมือนกัน
"กลั้นปัสสาวะไม่ได้" สัญญาณทางร่างกายที่เราต้องฟัง
ผู้ที่มีความเสี่ยงจากภาวะเช่นนี้ สังเกตอาการเริ่มต้นได้ง่ายๆ คือ ปัสสาวะบ่อยมากกว่า 8 ครั้งต่อวัน แถมยังมีอาการปัสสาวะเล็ด เมื่อไอ จาม หัวเราะ หรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหว ปวดปัสสาวะเมื่อไหร่ต้องเข้าห้องน้ำทันที และมีอาการเหมือนปัสสาวะไม่สุดอยู่เสมอจนถึงอาการหนักคือ กลั้นไม่ได้เลย ราดทันทีเมื่อปวดปัสสาวะ
เรามาดูกันว่าปัจจัยเสี่ยงสู่ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ มีอะไรบ้าง
- อายุที่มากขึ้น ผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่ามีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ถึง 15-35%
- โรคอ้วน น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแรงบีบต่อกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น
- การคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ / การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดมดลูก, การผ่าตัดต่อมลูกหมาก
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน ภาวะสมองเสื่อม
เทคนิคป้องกันปัญหา “กลั้นปัสสาวะไม่ได้”
อย่างไรก็ตามถึงแม้ภาวะดังกล่าวจะสร้างความกังวลใจและสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันการเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้โดยการบริหารกล้ามเนื้อหูรูดให้แข็งแรง ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ดังนี้
- ฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูด ขมิบทำเหมือนกำลังกลั้นปัสสาวะ โดยขมิบครั้งละประมาณ 5 วินาที แล้วหยุด10 วินาที ทำซ้ำแบบนี้ 10 ครั้ง เริ่มต้นอาจจะทำวันละ 3 เวลาในตอนเช้า กลางวัน และเย็น ทุกวัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนให้ถี่ขึ้น
- ฝึกควบคุมการขับถ่าย พยายามกลั้นปัสสาวะให้นานขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย ก่อนที่จะไปปัสสาวะ ให้ยืดระยะเวลาระหว่างการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้ง ให้นานขึ้น แต่ไม่ควรกลั้นนานเกินไป
- ทานอาหารที่มีกากใย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ลดความดันในช่องท้อง
- ไม่ควรเบ่งปัสสาวะอย่างรุนแรงและปัสสาวะให้หมด หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย และงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มน้ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้ไตทำงานหนัก และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด
- ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม อย่าปล่อยให้น้ำหนักมากจนเกินไป เพื่อลดแรงบีบต่อกระเพาะปัสสาวะของหน้าท้อง
จะเห็นว่าอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลให้สูญเสียโอกาสบางอย่างในชีวิต เช่น ไม่สามารถเดินทางไปสถานที่ไกลๆได้ เพราะมีข้อจำกัดด้านห้องน้ำ อาจนอนหลับไม่สนิทเพราะกังวลเรื่องการปัสสาวะ และอาจส่งผลให้กลายเป็นคนไม่ชอบออกไปข้างนอก และไม่กล้าเข้าสังคมไปในที่สุด
ปัญหาเรื่องปัสสาวะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงแต่กับผู้สูงอายุ อย่าลืมหมั่นสังเกตพฤติกรรมและอาการของตัวคุณเอง ที่สำคัญหากท่านที่มีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการ และสาเหตุให้แน่ชัด และรับการรักษาอย่างถูกวิธี