รู้จักการ "ตัดเหงือก" (Gingivectomy) คืออะไร ทำไมต้องตัด อันตรายหรือไม่?
ตัดเหงือก (Gingivectomy) การตัดเหงือก เป็นกระบวนการศัลยกรรมชนิดหนึ่ง ที่ทำเพื่อตัด หรือปรับเปลี่ยนรูปของของเหงือก การตัดเหงือกนี้สามารถทำเพื่อรักษาสภาวะบางอย่าง เช่น โรคเหงือกอักเสบ หรือปัญหาร่องเหงือกลึก
การตัดเหงือก คืออะไร
ตัดเหงือก (Gingivectomy) เป็นกระบวนการศัลยกรรมชนิดหนึ่ง ที่ทำเพื่อตัด หรือปรับเปลี่ยนรูปของของเหงือก การตัดเหงือกนี้สามารถทำเพื่อรักษาสภาวะบางอย่าง เช่น โรคเหงือกอักเสบ หรือปัญหาร่องเหงือกลึก ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือการเกลารากฟัน โดยปกติแล้วกระบวนการตัดเหงือกนั้นจะทำก่อนที่ปัญหาจากโรคเหงือกจะส่งผลให้รากฟันเกิดความเสียหายแล้ว
บางครั้งการตัดเหงือกก็อาจจะถูกจำสับสนกับ การศัลยกรรมตกแต่งเหงือก (Gingivoplasty) ซึ่งเป็นกระบวนการปรับรูปร่างของเหงือก เพื่อเหตุผลทางด้านความสวยความงาม เช่น ทำให้รูปฟันดูยาวขึ้น หรือทำให้ดูยิ้มสวยมากขึ้น แต่การตัดเหงือกนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การตัดชิ้นเนื้อเหงือกที่มีปัญหาเพื่อรักษาโรค ในขณะที่การศัลยกรรมตกแต่งเหงือกจะเน้นไปที่การเสริมความงาม แต่อย่างไรก็ตาม ในระหว่างกระบวนการศัลยกรรมเหงือก ก็อาจจำเป็นต้องมีการตัดเหงือก เพื่อปรับรูปร่างของเหงือกให้ออกมาดูสวยงามได้เช่นกัน
อาการแบบไหน ถึงต้องตัดเหงือก
ทันตแพทย์อาจจะแนะนำให้คุณทำการตัดเหงือกได้ หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือกดังต่อไปนี้
- เหงือกร่น
- เหงือกติดเชื้อ
- เหงือกอักเสบ
- ปัญหาร่องเหลือกลึก
- เหงือกบาดเจ็บ
ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาโรคเหงือกทำการรักษาด้วยการตัดเหงือก เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกเกิดความเสียหายมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ทันตแพทย์สามารถรักษาและทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
อันตรายจากการตัดเหงือก
เนื่องจากกระบวนการผ่าตัดเหงือกนั้นจะทำให้เกิดรอยแผลที่เหงือก จึงทำให้มีความเสี่ยงที่บาดแผลจะติดเชื้อได้ ยิ่งโดยเฉพาะในบริเวณเหงือกที่มักจะมีการสะสมของเชื้อแบคทีเรียอยู่มาก นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียยังอาจสามารถเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อนั้น
สิ่งที่สำคัญคือ ก่อนเริ่มกระบวนการนี้ คุณควรทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนให้ดี หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์หรือศัลยแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตัดเหงือก
ทันตแพทย์จะต้องทำการตรวจอาการของคุณ เพื่อให้แน่ใจก่อนว่า คุณควรจะต้องทำการตัดเหงือกหรือไม่ หลังจากที่คุณปรึกษากับแพทย์จนมั่นใจแล้วว่าคุณต้องการที่จะทำการผ่าตัดเหงือก ก็อาจสามารถทำการตัดเหงือกได้เลย เนื่องจากกระบวนการตัดเหงือกนั้นเป็นเพียงการผ่าตัดเล็ก และใช้เวลาแค่ครั้งละประมาณ 30-60 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณของเหงือกที่จำเป็นต้องผ่าออกไป
ขั้นตอนการตัดเหงือก
กระบวนการตัดเหงือกจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ขึ้นอยู่กับปริมาณของเหงือกที่ต้องตัด และมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ทันตแพทย์จะฉีดยาชาในเหงือกบริเวณที่ต้องทำการผ่าตัด เพื่อให้รู้สึกชาและไม่รู้สึกเจ็บ
- แพทย์จะใช้มีดผ่าตัด หรือมีดเลเซอร์ เพื่อตัดชิ้นเนื้อเหงือกในบริเวณที่ต้องการออกไป
- ในระหว่างกระบวนการผ่าตัด อาจต้องมีการดูดน้ำลายส่วนเกินออกไปบ้าง นานๆ ครั้ง
- หลังจากนั้น แพทย์ก็อาจจะใช้เครื่องมือเลเซอร์ตัดแต่งรูปร่างของเหงือกให้เข้ารูป
- หลังจากเสร็จสิ้นการผ่าตัดแล้ว แพทย์ก็จะใช้ผ้าก๊อซปิดแผล และรอให้แผลฟื้นฟู เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ
กระบวนการตัดเหงือกนั้นถือว่าเป็นการผ่าตัดเล็ก และมักจะเสร็จสิ้นภายในการผ่าตัดเพียงครั้งเดียว แต่หากจำเป็นต้องผ่าเหงือกหลายๆ จุด แพทย์ก็อาจจะแบ่งผ่าหลายๆ ครั้ง โดยรอให้แผลเดิมหายก่อน ก่อนที่จะนัดมาตัดเหงือกจุดอื่นในภายหลัง
การพักฟื้นหลังการตัดเหงือก
คุณสามารถกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ทันทีหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตัดเหงือก ในช่วงแรกหลังจากการผ่าตัด คุณอาจจะยังไม่รู้สึกถึงอาการปวดใดๆ จนกว่ายาชาจะหมดฤทธิ์ หลังจากนั้นคุณก็อาจจะรู้สึกถึงอาการปวด และไม่สบายที่บริเวณเหงือก แต่สามารถบรรเทาอาการปวดได้ ด้วยการกินยาแก้ปวดต่างๆ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
นอกจากนี้ คุณก็อาจจะมีอาการเลือดออกจากเหงือกอยู่หลายวัน ควรล้างแผลและเปลี่ยนผ้าปิดแผลเป็นประจำทุกวัน จนกว่าแผลจะหายสนิท และทันตแพทย์แนะนำว่าสามารถถอดผ้าปิดแผลออกได้แล้ว
ห้ามบ้วนปากเป็นเวลา 12 ชั่วโมงหลังจากการผ่าตัด หลังงานนั้นอาจสามารถบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุณหภูมิห้อง สามารถแปรงฟันได้ตามปกติ แต่ควรแปรงแค่บริเวณฟันและหลีกเลี่ยงบริเวณเหงือก งดรับประทานอาหารเผ็ดและอาหารที่เย็นๆ เป็นเวลา 2-3 วัน และควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
ความเสี่ยงหลังการตัดเหงือก
หลังจากการผ่าตัดเหงือก คุณอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ โปรดแจ้งให้แพทย์ทราบในทันที หากคุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้หลังจากการผ่าตัดเหงือก
สัญญาณของการติดเชื้อ เช่น
- เหงือกบวม
- เป็นหนอง
- มีเลือดออกจากเหงือกเป็นเวลานาน
- รู้สึกปวดอย่างรุนแรง
- เป็นไข้
หากสังเกตเห็นอาการเหล่านั้น ควรรีบติดต่อแพทย์เพื่อทำการรักษาในทันที
คุณสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์