"ฝังเข็ม" อีกทางเลือกของคนนอนไม่หลับ

"ฝังเข็ม" อีกทางเลือกของคนนอนไม่หลับ

"ฝังเข็ม" อีกทางเลือกของคนนอนไม่หลับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
  • ปัจจุบันโรคนอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานและผู้สูงอายุ

  • ในทางแพทย์แผนจีน อาการนอนไม่หลับนอกจากการมีปัจจัยภายนอกมากระทบอารมณ์แล้ว อาจเกิดจากแหล่งสร้างสารบำรุงร่างกายไม่เพียงพอ การหมุนเวียนของเลือดในร่างกายไม่ดี และอาจเกิดจากการทำงานของอวัยวะภายในร่างการที่ทำงานไม่สอดคล้องกัน ซึ่งสามารถปรับสมดุลได้ด้วยสมุนไพร หรือการฝังเข็ม

ในปัจจุบันโรคนอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งอาการของโรคนอนไม่หลับ คือไม่สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ ระยะเวลาในการนอนหลับน้อยกว่าปกติ (โดยทั่วไปน้อยกว่า 4-6 ชั่วโมง)

  • มีอาการหลับยาก (ใช้เวลาเข้านอนนานเกินกว่า 30 นาที)

  • หลับแล้วตื่นง่าย หรือหลับๆ ตื่นๆ ฝันมาก

  • ตื่นขึ้นมาแล้วหลับยาก (ตื่นกลางดึกมากกว่า 2 ครั้ง หรือ ตื่นก่อนฟ้าสางแล้วนอนต่อไม่ได้)

คุณภาพการนอนลดลง จนถึงขั้นนอนไม่หลับเลยตลอดคืน ทำให้ช่วงกลางวันรู้สึกมึนงง ไม่สดชื่น ง่วงนอน อ่อนเพลีย เป็นต้น มักจะกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียนและสุขภาพ

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

พจ.ลิขิตา ทองแย้ม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.สมิติเวช สุขุมวิท และ รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า สาเหตุของอาการนอนไม่หลับอาจเกิดจาก ความผิดปกติทางร่างกายหรือจิตใจ หรืออาจเกิดจากสถาณการณ์ตึงเครียดที่พบเจอเป็นเวลานาน ซึ่งทางการแพทย์แผนปัจจุบันเรียกว่า โรคเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาท ทำให้มีผลต่อการนอน การแพทย์แผนปัจจุบัน จำแนกการนอนไม่หลับ เป็นสองกลุ่มคือ

  • การนอนไม่หลับที่ไม่เรื้อรัง (acute) มักมีสาเหตุจากปัญหาด้านอารมณ์ ความเครียด หรือ อาการเจ็บป่วยทางร่ายกาย

  • การนอนไม่หลับที่เรื้อรัง (chronic) มักมีสาเหตุมาจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น โรคทางจิตเวช โรคทางอายุรกรรม สารหรือยา หรือ ความผิดปกติของการนอนหลับโดยตรง (primary sleep disorder)

การวินิจฉัยอาการนอนไม่หลับ ฉบับแพทย์แผนจีน

ในทางแพทย์แผนจีน อาการนอนไม่หลับนอกจากการมีปัจจัยภายนอกมากระทบอารมณ์แล้ว อาจเกิดจากแหล่งสร้างสารบำรุงร่างกายไม่เพียงพอ การหมุนเวียนของเลือดในร่างกายไม่ดี และอาจเกิดจากการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายที่ทำงานไม่สอดคล้องกัน อวัยวะที่เกี่ยวข้องเช่น หัวใจ ไต ตับ ม้าม และถุงน้ำดี ซึ่งจะวินิจฉัยเบื้องต้นได้จากการซักถามประวัติการนอนหลับ เช่น เข้านอนลำบากหรือตื่นง่าย หรือ ตื่นแล้วนอนต่อลำบาก และในรายที่อาการหนักจนไม่สามารถหลับทั้งคืน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง จิตใจกระสับกระส่าย ฝันมาก รวมไปถึงมีภาวะวิตกกังวล และ อาการซึมเศร้า อาจวินิจฉัยร่วมกับผลตรวจในห้องปฏิบัติการต่างๆ

นอนไม่หลับ รักษาได้ด้วยการฝังเข็มและสมุนไพร

ในการรักษาอาการนอนไม่หลับโดยใช้ศาสตร์แพทย์จีนนั้น จะทำการตรวจวินิจฉัยอาการและทำการรักษาโดยการฝังเข็มปรับสมดุลภายในร่างกาย หรือแนะนำการใช้สมุนไพรที่หาได้ทั่วไป มาทานเสริมหรือใช้ปรุงอาหาร รวมถึงทำเป็นชาสมุนไพรดื่มง่ายได้ทุกวัน เช่น พุทราจีน เห็ดหลินจือ น้ำผึ้ง ลำไยแห้ง ชาคาโมมายล์ ซึ่งบางตัวมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงอวัยวะที่เกี่ยวข้องหรือมีสรรพคุณช่วยให้เส้นประสาทและกล้ามเนื้อผ่อนคลายจึงช่วยในการนอนหลับได้ง่ายขึ้น

รักษาโรคนอนไม่หลับด้วยการฝังเข็ม

ส่วนการรักษาด้วยการฝังเข็มจะเลือกจุดที่สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วยที่นอนไม่หลับ หลังจากฝังเข็มคาเข็มไว้ 20-40 นาที หลังจากนั้นจึงถอนเข็ม ให้ผู้ป่วยทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง 1 คอร์ส จะทำการฝังเข็มทั้งหมด 10 ครั้ง ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะของโรคนอนไม่หลับ เช่น การนอนไม่หลับแบบเฉียบพลันอาจใช้การรักษาเพียง 1 คอร์สหรือประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นเพียงภาวะนอนไม่หลับชั่วคราวอาจใช้ระยะเวลาในการรักษาน้อยกว่า 10 ครั้ง และ นอนไม่หลับแบบเรื้อรังอาจใช้เวลารักษามากกว่า 1 คอร์สขึ้นไป

*หากผู้ป่วยรักษาด้วยการใช้ยานอนหลับเป็นประจำไม่ควรหยุดยาโดยกะทันหัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อค่อยๆ ลดปริมาณยาลงตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมกับการรักษาแบบแพทย์แผนจีน

ข้อแนะนำและการป้องกันอาการนอนไม่หลับ

  • หลีกเลี่ยงการเปิดโทรทัศน์ หรือเล่นอุปกรณ์สื่อสารก่อนนอน

  • หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน

  • หลีกเลี่ยงอาหารมื้อหนัก หรืออาหารที่ย่อยยากก่อนนอน

  • หากนอนไม่หลับ หากิจกรรมเบาๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือนั่งสมาธิ

  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ ชาที่มีคาเฟอีน หรือน้ำอัดลม

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook