เคล็ดลับนักวิ่ง! เลือกรองเท้าดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
Put the Right “Shoes”on the Right Job
รองเท้าดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
By อุ๊บอิ๊บ-ภคนีย์ บุรุษภักดี
“การหารองเท้าดี ๆ สักคู่ก็คงไม่ต่างกับการหาเนื้อคู่ดี ๆ ที่พร้อมจะก้าวไปกับเราสักคน”
กว่าจะเลือกรองเท้าวิ่งที่ถูกใจจริง ๆ และเข้ากับเท้าได้อย่างพอเหมาะพอดีไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ อุ๊บอิ๊บใช้เวลาเสาะหาอยู่นานพอสมควรลองผิดลองถูก ช้ำมาแยะ เจ็บมาเยอะ จนในที่สุดตอนนี้ก็เจอเนื้อคู่แล้ว
อย่างแรกที่ต้องบอกในการเลือกซื้อรองเท้าวิ่ง คือ อย่าตั้งใจเลือกที่ยี่ห้อ สี รุ่นที่ชอบ หรือที่ “เขาว่ากันว่าดี” เท่านั้น เพราะ รองเท้าที่ดีเราต้องลองใส่แล้วรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเท้า ไม่รัด ไม่หลวม หรือรู้สึกติดขัดส่วนใดส่วนหนึ่ง แม้แต่นิดเดียวก็ไม่ได้นะคะ บางคนอาจจะชอบที่สีหรือสไตล์ ไปลองในร้านคับนิดบีบหน่อยก็คิดว่าพอให้อภัยและไม่เป็นไรหรอก...แต่จริง ๆ แล้ว “เป็นค่ะ!”
เมื่อเจอปัญหาแค่เพียงนิดเดียวก็ต้อง “ตัดใจ” เท่านั้น...ใส่ไม่ได้ก็คือไม่ได้! (ดุมั้ย)
เราใช้เวลาแค่เพียงไม่นานในการลองรองเท้า แต่ตอนวิ่งรองเท้าอยู่กับเรานานกว่านั้นมาก จะบาดเจ็บก็ตอนวิ่งนี่แหละค่ะ (แล้วอย่าเอารองเท้าที่เพิ่งซื้อมาใหม่ไปลงแข่งอย่างเด็ดขาด เสี่ยงสุด ๆ ค่ะ) รองเท้าคู่ที่เหมาะอาจจะไม่ใช่คู่ที่สวย แต่เป็นคู่ที่เท้าของเราต้องสบายที่สุด และสิ่งที่อยากย้ำอีกอย่างคือ เลือกรองเท้าให้ดีที่สุดจากร้านเลย ถ้าที่ร้านมีเครื่องวิ่งให้ทดลองก็ลองใส่แล้ววิ่งเลยค่ะ แต่ถ้าบางร้านไม่มีก็วิ่งไปวิ่งมาอยู่ในร้านนั่นแหละ อย่าเกรงใจคนขายที่เอามาให้ลองหรือให้เลือกเยอะ การซื้อรองเท้าแต่ละครั้งเราใช้จำนวนเงินไม่ใช่น้อยนะคะ บางคู่ราคาเฉียดหมื่นก็มี ฉะนั้นต้องคิดให้คุ้มและศึกษาให้ดีก่อนยอมจ่าย ที่สำคัญกว่าเรื่องเงินคือ “ร่างกายของเราเอง” การใช้งานรองเท้าส่งผลกับร่างกายเราโดยตรง ฉะนั้นค่อย ๆ เลือก ลองให้ครบทุกยี่ห้อทุกแบบแล้วค่อยตัดสินใจซื้อคู่ที่เข้ากับเท้าเราที่สุดค่ะ
อย่าเชื่อตามคำแนะนำ ถ้ายังไม่ได้ลองเอง
บางทีรองเท้าคู่หนึ่งอาจจะดีและเข้ากับเท้าของคนหนึ่งมาก ๆ แต่ไม่สามารถตัดสินได้ว่ารองเท้าคู่นั้นจะดีมาก ๆ สำหรับเท้าของเราด้วย เพราะเท้าของแต่ละคนมีลักษณะทางกายภาพไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่รองเท้าที่เราใส่อยู่ประจำ เมื่อเปลี่ยนคู่ใหม่ก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนไปได้เหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจะซื้อคู่ใหม่ก็ต้องไปลองด้วยตัวเองสถานเดียวค่ะ อุ๊บอิ๊บเคยนะที่ใส่ร้องเท้ายี่ห้อและรุ่นหนึ่งอยู่ พอซื้อคู่ต่อไปก็ชะล่าใจไม่ได้ลองก่อน แต่เลือกซื้อตามยี่ห้อ รุ่น และไซส์เดิม กลับกลายเป็นว่ารองเท้านั้นเปลี่ยนตัวผ้าเป็นแบบยืดกว่าเดิมโดยที่มารู้ทีหลังพอเอามาใส่วิ่งจึงรู้สึกหลวม ไม่พอดีเท้าหกล้มไปหลายรอบ ทีนี้จำขึ้นใจเลยค่ะว่าจะซื้อรองเท้าวิ่งใหม่เมื่อไร ก็ต้องลองใหม่ทุกครั้งด้วยนะคะ
รองเท้าแต่ละประเภทเกือบเหมือน แต่ไม่เหมือนกัน
ก่อนซื้อรองเท้าต้องถามตัวเองก่อนว่าอยากได้รองเท้าสำหรับอะไร เอาไว้ใส่ซ้อม ใส่แข่งวิ่งถนน วิ่งเทรล หรือเอาไว้แค่เข้ายิม เพราะรองเท้าวิ่งแต่ละคู่ออกแบบมาให้แตกต่างกันตามการใช้งานแต่ละประเภท
รองเท้าวิ่ง ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับการวิ่งโดยเฉพาะ ซึ่งก็จะแยกประเภทออกไปอีกว่าเป็นรองเท้าสำหรับซ้อม รองเท้าสำหรับแข่ง สำหรับวิ่งถนน สำหรับวิ่งเทรล แต่ละแบบก็เหมาะกับการใช้งานต่างกันไปดังนี้
รองเท้าวิ่งถนน ส่วนมากพื้นรองเท้าจะไม่มีดอกยางลึก เป็นพื้นเรียบ ๆ เพราะเป็นการวิ่งแนวระนาบ บางคนจะแบ่งประเภทออกไปอีก คือ รองเท้าซ้อมและรองเท้าแข่ง
รองเท้าซ้อม เป็นรองเท้าที่เราใช้งานบ่อยที่สุด เพราะเราอาจซ้อมทุกวันหรือวันเว้นวัน ควรเป็นรองเท้าที่มีตัวรองรับการกระแทก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของเท้า ซึ่งรองเท้าประเภทนี้จะมีน้ำหนักมาก (มาจากน้ำหนักของวัสดุที่ใช้เป็นตัวรองรับการกระแทก) แต่น้ำหนักที่มากนี้ก็ส่งผลดีทางอ้อมด้วย เพราะเมื่อเราใช้รองเท้าที่มีน้ำหนักมากในวันซ้อม ในวันแข่งจริงเราใช้รองเท้าสำหรับแข่งที่มีน้ำหนักเบากว่า (เนื่องจากไม่มีน้ำหนักจากวัสดุที่เป็นตัวรับแรงกระแทก) จะทำให้เราวิ่งได้เร็วกว่าเดิม และทำเวลาได้ดีขึ้น
รองเท้าแข่ง ส่วนมากจะเป็นรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา พื้นรองเท้าบาง มีตัวรองรับการกระแทกไม่มากหรือบางยี่ห้อจะไม่มีเลย รองเท้ายิ่งเบา พื้นยิ่งบาง ยิ่งคล่องตัวและทำเวลาได้ดีค่ะ
อ้อ! แต่ก่อนจะใส่ลงสนามแข่งจริงต้องลองใส่ซ้อมวิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง เพื่อให้เท้าของเราคุ้นชิน ทดสอบว่าต้องไม่กัดหรือไม่บาดเท้า หากซื้อมาแล้วเอาแต่เก็บไว้ในกล่องไม่เคยใส่ซ้อมเลย พอถึงวันแข่งจริงมีโอกาสที่เราจะวิ่งไม่ถนัดหรือรู้สึกไม่คุ้นเคย ทำให้วิ่งไม่สนุกหรืออาจบาดเจ็บได้ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้เหมือนจะไม่สำคัญ แต่ความจริงแล้วสำคัญมากนะคะ
รองเท้าวิ่งเทรล สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างรองเท้าวิ่งถนนกับรองเท้าวิ่งเทรลคือ “พื้นรองเท้า” พื้นรองเท้าเทรลจะมีดอกยางหนาและเยอะกว่าเพื่อเพิ่มการยึดเกาะพื้น เวลาวิ่งลงเนินเขา การมีดอกยางจะช่วยยึดเกาะไม่ให้เราลื่นไถลจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ก็อาจมีคุณสมบัติเสริมอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น ความแข็งแรงของวัสดุที่ใช้ผลิต การออกแบบที่ทนต่อพื้นลักษณะต่าง ๆ เนื้อผ้ากันน้ำ ฯลฯ
รองเท้าเทรนนิ่ง ใช้ในการวิ่งบนเครื่องวิ่งสายพานได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ระยะเวลาไม่นานมากและไม่ต้องกระทบ-กระเทือนมากนัก นอกจากนี้ยังสามารถใส่เล่นกีฬาอย่างอื่นในยิมได้อีก เช่น เล่นเวตหรือเต้นแอโรบิก แต่ก็จะไม่เหมาะสำหรับวิ่งระยะทางไกล ๆ
คราวหน้ามาต่อกันที่เรื่องของการเลือกไซส์รองเท้าให้กับการวิ่งของเรา เผื่อเหลือเผื่อขาดอย่างไรไม่ให้เท้าบาดเจ็บ และเรื่องของการเลือกซื้อถุงเท้าสำหรับวิ่งค่ะ ติดตามอ่านให้ดีนะคะ
ขอบคุณเนื้อหา และภาพจากหนังสือ Happy Running มาวิ่งกันเถอะ สำนักพิมพ์สเต็ปส์ ในเครืออมรินทร์
อ่านเพิ่มเติม >>
15 ข้อควรรู้สำหรับนักวิ่งมือใหม่และมือโปร
ผักผลไม้เพิ่มพลังสำหรับนักวิ่ง
วอร์มอัพ-คูลดาวน์ สิ่งที่นักวิ่งควรปฏิบัติ
วิ่งในฟิตเนส VS วิ่งในสวน แบบไหนดีกว่ากัน