เทรนด์สุขภาพประจำปี 2020
ปี 2020 เป็นปีที่เราใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้นกว่าเดิมหลายร้อยเท่า ไม่ใช่เพราะเราอยากมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่เป็นเพราะเราไม่อยากติดโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเราอย่างมาก จนเกิดเป็นคำว่า “New Normal” ที่หมายถึงวิถีชีวิตที่เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมอะไรใหม่ๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดมากยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การตอบรับเป็นอย่างดีว่าเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้เราทุกคนบนโลกผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
Sanook Health รวบรวมเทรนด์สุขภาพประจำปี 2020 สรุปมาให้ทุกๆ คนได้อ่านกันว่า ในปี 2020 ปีแห่งโรคระบาด และการถือกำเนิดของ New Normal นี้ มีอะไรบ้าง
-
หน้ากากอนามัย / เจลแอลกอฮอล์ / Social Distancing / Quarantine
ตั้งแต่ต้นปีเราก็ต้องเจอกับมรสุมโควิด-19 ที่ทำเอาเราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตกันยกใหญ่ การจัดงานแสดงต่างๆ ทยอยยกเลิก การรวมตัว การชุมนุมร่วมกับคนจำนวนมากเริ่มเป็นสิ่งต้องห้าม หน้ากากอนามัยเป็นไอเท็มแรกที่กลายเป็นสิ่งของที่ต้องมีติดตัวตลอดเวลา หากขาดเมื่อไรอาจไม่ได้เข้าใช้บริการในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงเจลแอลกอฮอล์ที่ต้องมีติดตัวเพื่อทำความสะอาดมือหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะ หรือก่อนหยิบอาหารเข้าปาก จนทำให้สองไอเท็มนี้กลายเป็นไอเท็มยอดฮิตที่ทำเอาขาดตลาดกันอยู่หลายเดือน
นอกจากนี้ คำใหม่ก็ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เป็นมาตรการลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก นั่นคือคำว่า Social Distancing (ในทางปฏิบัติ คือ Physical Distancing) หรือการรักษาระยะห่างทางสังคม เมื่อการไอจามเป็นสาเหตุหลักที่แพร่กระจายเชื้อโรคสู่คนอื่นได้ การรักษาระยะห่างระหว่างกันและกันจึงเป็นคำแนะนำแรกๆ ที่ช่วยลดการติดเชื้อได้ รวมถึงคำว่า Quarantine หรือ Self-Quarantine ที่หมายถึงการกักตัวเอง อยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าเลยระยะเวลาฟักตัวของเชื้อ เมื่อคนๆ นั้นเพิ่งมาจากพื้นที่เสี่ยงโรคระบาด รวมคงการเข้าออกต่างประเทศ จึงเกิดเป็นเทรนด์ว่าเราควรทำอะไรกันบ้างในช่วงกักตัว
นอกจากนี้ เทรนด์ในการตรวจโควิด-19 ก็มาแรงเช่นกัน ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือข้องแวะใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ ต้องเข้ารับการตรวจโควิด-19 ทันที ทำให้แต่ละโรงพยาบาลต้องเตรียมการรับมือกับผู้คนมากมายที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงมาตรการในการดูแลผู้ป่วยปกติ กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องแยกออกจากกัน และให้การรักษาที่แตกต่างกันด้วย
- โควิด-19 (ไวรัสโคโรนา) vs ไข้หวัดธรรมดา ต่างกันอย่างไร?
- ไวรัสโคโรนา: 7 วิธีเว้นระยะห่างจากสังคม (Social Distancing) ต้าน “โควิด-19”
- 5 สัญญาณอันตราย ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)
- แพทย์เตือน! ห้ามดึง “หน้ากากอนามัย” ไว้ใต้คาง เสี่ยงติดเชื้อไวรัสหรือ "โควิด-19" โดยไม่รู้ตัว
-
อาหารคลีน / ขนมคลีน / Plant-based food
นอกจากเรื่องโรคภัยไข้เจ็บแล้ว เรื่องของการดูแลสุขภาพที่เริ่มต้นจากอาหารก็ยังคงได้รับความสนใจเช่นเคย ในปีนี้เราได้พบเห็นอาหาร และขนมที่โฆษณาว่าเป็น อาหารคลีน ขนมคลีน มากมาย โดยผู้ผลิตหันมาใส่ใจในส่วนผสมที่ใช้มากขึ้น รวมถึงกรรมวิธีต่างๆ เช่น เปลี่ยนจากทอดเป็นย่าง หรือถ้าจะทอดก็ทอดในน้ำมันที่มีไขมันไม่อิ่มตัว และขนมคลีนที่เน้นน้ำตาลจากธรรมชาติมากกว่า ทั้งหมดนั้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร และเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเทรนด์ Plant-based food หรืออาหารที่มาจากผักผลไม้ ถั่ว และธัญพืชต่างๆ มากกว่าจะเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการสำเร็จรูป หรืออาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ เช่น เลือกดื่มนมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ มากกว่านมวัว หรือถ้าง่ายๆ คือการเลือกรับประทานอาหารที่เน้นผักผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์ให้มากขึ้นนั่นเอง ซึ่งปัจจุบันก็มีการแนะนำสูตรอาหารประเภท Plant-based มากมาย เพราะค่อนข้างใกล้เคียงกับการกินเจ หรือมังสวิรัติอยู่บ้าง แต่ยังมีทางเลือกๆ มากกว่า เพราะ Plant-based ไม่ได้หมายความว่าให้งดเนื้อสัตว์ แต่เป็นการเพิ่มสัดส่วนในการรับประทานอาหารจากพืชผักมากขึ้น ส่วนเนื้อสัตว์ก็ปรับเปลี่ยนไปรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ มากกว่าเนื้อหมูเนื้อแดง เช่น ปลา ไก่ เป็นต้น เพราะฉะนั้นทางเลือกของคนรักสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องลงเอยอยู่ที่สลัดแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
- 8 วิธีกิน "อาหารคลีน" ให้ถูกหลัก ดีต่อสุขภาพ-ลดน้ำหนักได้อย่างแท้จริง
- 5 เทคนิคง่ายๆ กินคลีนยังไงให้ได้ผล
- อันตรายจากการ “กินคลีน”
- Plant Based Diet คืออะไร ดีต่อร่างกายอย่างไร?
-
คีโตเจนิค
การรับประทานอาหารแบบคีโตเจนิคยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่เริ่มจากการกินอาหารที่หลายคนลด ละ เลิกไม่ได้ อย่างอาหารที่มีไขมันสูง จึงทำให้เป็นที่นิยมในหลายๆ คนที่มองว่าตัวเองไม่สามารถรับประทานแต่ผักผลไม้ได้ แต่การกินแบบคีโตเจนิคมีข้อควรระมัดระวัง และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ใช่แค่การกินไขมันและงดแป้ง-น้ำตาลแต่เพียงอย่างเดียว ยิ่งกว่านั้นยังต้องได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้มีปัญหากับสุขภาพโดยรวมในภายหลัง เพราะการกินคีโตเจนิคแบบผิดวิธี นอกจากจะไม่ได้ช่วยลดน้ำหนักได้อย่างที่ใจหวังแล้ว ยังอาจส่งผลให้ร่างกายมีปฏิกิริยา หรือส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายที่เปลี่ยนไปอีกด้วย แต่ถ้าหากศึกษาข้อมูลมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และอยู่ภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผลลัพธ์ต่อสุขภาพนั้นดีมากกว่าน้ำหนักที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดแน่นอน
- คีโตเจนิค (Ketogenic Diet) คืออะไร? ลดความอ้วนด้วยไขมันแบบไหน?
- "คีโตเจนิค" กินไขมันอย่างไร เพื่อ "ลดน้ำหนัก" ได้ผลและปลอดภัย
- เช็กก่อนกิน “คีโตเจนิค” ใครควรกิน-ไม่ควรกิน
- ผักและผลไม้ไม่มีแป้ง สำหรับคนกิน "คีโตเจนิค"
-
IF (Intermittent Fasting)
เทรนด์ของการงดมื้ออาหารเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก แต่เริ่มมีคนทำตามมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นวิธีง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำตามกันได้ และไม่ต้องลงทุนกับอะไรมากมาย เพียงแค่เราจำกัดเวลาในการรับประทานอาหารเท่านั้น หลักการของการงดมื้ออาหาร คือการรับประทานอาหารในระยะเวลาหนึ่ง และอีกระยะเวลาหนึ่ง (ที่ยาวนานกว่า) จะเป็นช่วงของการงดมื้ออาหาร ไม่รับประทานอะไรที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย คล้ายๆ กับการรับประทานอาหารเป็นเวลาเหมือนพระ ซึ่งพบว่าการปล่อยให้ร่างกายรู้สึกถึงความอดอยากเพียงชั่วครั้งชั่วคราว กลับให้ผลดีต่อระบบต่างๆ ในร่างกายมากกว่าให้ร่างกายได้รับอาหารจนอิ่มอยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ การทำ IF แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ง่ายที่สุดในบรรดาทุกวิธีที่กล่าวมา แต่ก็สามารถผิดพลาดกันได้ง่ายๆ เช่นกัน หลายคนต้องล้มหมอนนอนเสื่อเข้าโรงพยาบาลเพียงเพราะเลือกที่จะงดมื้ออาหารยาวนานเกินไปจนระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ หรือบางคนอาจจะหักโหมเกินไป และเลือกช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะสุขภาพของตัวเอง ดังนั้นหากไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำ IF จะดีที่สุด
- งดมื้ออาหาร (Intermittent Fasting) เทรนด์ใหม่ “ลดน้ำหนัก” อย่างถูกวิธี
- 5 ข้อควรรู้ก่อนเริ่ม “งดมื้ออาหาร” (Intermittent Fasting)
- ข้อดีของ IF หรือ “งดมื้ออาหาร” ที่มากกว่าแค่ “ลดน้ำหนัก”
- IF ผิดวิธี ลดน้ำหนักไม่ได้ แถมเสี่ยงโรค
- งดมื้ออาหาร (Intermittent Fasting) VS จำกัดปริมาณอาหาร วิธีไหนช่วย “ลดน้ำหนัก” ได้ดีกว่ากัน
-
ใส่ใจสุขภาพจิตมากขึ้น
เชื่อหรือไม่ว่าคำค้นหายอดฮิตที่ติดอันดับของ Sanook Health หนีไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต ทั้งเรื่องโรคซึมเศร้า ความเครียด และอาการนอนไม่หลับ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่านอกจากเรื่องของสุขภาพกายที่เห็นได้จากภายนอกแล้ว สุขภาพจิตก็ยังสำคัญไม่แพ้กัน และยังส่งผลต่อร่างกายมากกว่าที่คุณคิด ในปีหนึ่งๆ มีคนไทยหลายคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เคยคิดฆ่าตัวตาย มีความเครียดสะสมจากปัญหาครอบครัว งาน เงิน ความรัก และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่ทำให้หลายคนพึ่งพาจิตแพทย์กันมากขึ้น
ดังนั้น ในปี 2020 นี้ หัวข้อเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตจึงเป็นที่พูดถึงมากพอๆ กันกับโรคโควิด-19 รวมถึงการให้คำปรึกษา การให้ความช่วยเหลือ วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น และเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์จึงเป็นห้อข้อที่มีคนพูดถึง และสืบหาข้อมูลจากโลกอินเตอร์เน็ตมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในปี 2020 ด้วย
- ทำความรู้จัก "โรคซึมเศร้า" และวิธีการดูแล ฟื้นฟู จิตใจ
- ภาวะซึมเศร้า VS ความรู้สึกเศร้า ต่างกันอย่างไร?
- “โควิด-19” กับผลกระทบสุขภาพจิตของคนไทย
จะได้เห็นได้ว่าในปี 2020 เทรนด์สุขภาพจะเน้นทั้งเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การลดน้ำหนักที่ถูกวิธี การดูแลตัวเองตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน และยังครอบคลุมไปถึงสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการเยียวยาควบคู่กันไป หากอยากมีสุขภาพที่ดี นอกจากรักษาความสะอาดของมือ ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้านแล้ว ยังต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอด้วย หากเกิดอาการผิดปกติเมื่อไร อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยรักษาให้ตั้งแต่เนิ่นๆ และให้คำแนะนำในการรักษาสุขภาพร่างกายได้อย่างถูกต้องกันจริงๆ