เปลี่ยนวิถีชีวิต ห่างไกลโรค “สมองเสื่อม”
เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคสมองเสื่อม จะกลายเป็นอาการป่วยที่น่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยตัวเลขของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้โรคสมองเสื่อม ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคอัลไซเมอร์อย่างเดียว แต่อาการสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองอุดตัน อาการสมองเสื่อมจากลิววี่ บอดี้ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกายและมีการเห็นภาพหลอนประกอบ อาการสมองส่วนหน้าและส่วนขมับเสื่อม ที่จะไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้อื่นได้ ก็เป็นโรคสมองเสื่อมเช่นเดียวกัน
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาการสมองเสื่อมที่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากโรงพยาบาล หรือเว็บไซต์ทางการแพทย์ แต่บทความนี้ เราจะนำเสนอวิธีป้องกัน และทำให้ตัวเองห่างไกลจากโรคสมองเสื่อม แม้ว่าจะมีผลวิจัยว่าบุคคลที่มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ก็มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีอาการเช่นเดียวกัน แต่เราจะไม่ยอมเป็นเหมือนพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเรา แล้วทำอย่างไรถึงจะห่างไกลจากโรคสมองเสื่อม มาดูกัน
ผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพในประเทศอังกฤษ ที่กำหนดกลุ่มทดสอบจำนวน 200,000 ราย ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการหลีกเลี่ยง หรือทำตัวให้มีความเสี่ยงน้อยลงจากอาการสมองเสื่อม เริ่มจากการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมและมีสุขภาพที่ดี ทั้งนี้นักวิจัยให้ผู้ที่เข้าร่วมงานวิจัยตอบคำถามเกี่ยวกับการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งจำนวนคนที่ตอบคำถามในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมค่อนข้างน้อยแม้ว่าจะมีคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม คือ
- ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาดแล้ว
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 2 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์
- มีวิถีการกินที่ถูกตามหลักโภชนาการ และมีการกินผลไม้ผักในทุกวัน ขณะเดียวกันก็กินปลาอย่างน้อยสองครั้งต่อ
สัปดาห์ - ดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัปดาห์ละหนึ่งแก้ว
ส่วนกลุ่มทดลองอีกกลุ่มที่ตอบคำถามและมีความเสี่ยงจะเป็นโรคสมองเสื่อมแม้ว่าจะไม่มีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมมาก่อน พวกเขาใช้ชีวิตโดย
- ยังคงสูบบุหรี่อยู่
- ไม่ค่อยออกกำลัง
- แม้ว่าจะควบคุมอาหารแต่ก็ไม่ค่อยกินผักและผลไม้ แต่กินเนื้อเป็นประจำทุกสัปดาห์
- มีนิสัยที่ชื่นชอบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอย่างยิ่ง
จากการทดสอบ แสดงให้เห็นว่า โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยจากพันธุกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงวิธีการใช้ชีวิตที่ทำให้ความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมนั้นเพิ่มมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ววิธีการที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงที่จากโรคสมองเสื่อม ไม่ว่าจะมาจากพันธุกรรมหรือวิถีการใช้ชีวิต คือการดูแลสุขภาพร่างกายให้เหมาะสมตามช่วงวัย อันหมายถึงการจัดระเบียบชีวิตตัวเอง ทั้งการพักผ่อน ออกกำลังกาย และ โภชนาการ เพื่อให้คุณได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยไม่ต้องมีความกังวลใจจากการเจ็บป่วยด้วยโรคสมองเสื่อม