"หมอนรองกระดูกหลังปลิ้น" คืออะไร? ใครเสี่ยงบ้าง?

"หมอนรองกระดูกหลังปลิ้น" คืออะไร? ใครเสี่ยงบ้าง?

"หมอนรองกระดูกหลังปลิ้น" คืออะไร? ใครเสี่ยงบ้าง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หมอนรองกระดูกหลังปลิ้น เริ่มด้วยอาการปวดหลัง จากนั้นจะเริ่มเดินเหินไม่ค่อยสะดวก เกิดจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต หรือการทำงานที่ไม่ถูกต้อง ใช้งานบริเวณส่วนหลังมากเกินไปทุกวัน ทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นได้

หมอนรองกระดูกหลังปลิ้น คืออะไร?

นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) ระบุว่า จริงๆ แล้ว โรคนี้เรียกกันไปหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็น หมอนรองกระดูกเสื่อม เคลื่อน ทับเส้น ทั้งหมดทุกชื่อ ล้วนแล้วแต่มีพยาธิสภาพเดียวกันทั้งสิ้น

ความสำคัญของโรคนี้ คือ มันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งจากความเสื่อม และจากกิจกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการปวดหลังและสะโพกร้าวลงขาอีกด้วย

อาการหมอนรองกระดูกหลังปลิ้น

อาการของโรคนั้นกว้างมาก เริ่มตั้งแต่แค่ปวดหลังธรรมดา ปวดหลังเรื้อรัง ปวดสะโพก ปวดและชาขา ไปจนถึง ขาอ่อนแรง เดินได้ไม่ไกล โดยบางรายอาการหนักอาจทำให้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะอุจจาระได้เลยทีเดียว

การรักษาหมอนรองกระดูกหลังปลิ้น

การรักษาก็ทำได้หลายอย่างเช่นเดียวกัน เป็นน้อยก็รับประทานยาธรรมดา แต่หากเป็นมากขึ้น อาจต้องฉีดยาพิเศษเฉพาะจุดหรือหากมีการกดทับเส้นประสาทมาก อาจถึงขั้นต้องผ่าตัดเลยทีเดียว

พยาธิสภาพ คือ ตัวหมอนรองกระดูกนั้นประกอบไปด้วยส่วนตรงกลาง เรียกว่านิวเคลียส และเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบๆ ตัวมันอยู่ เมื่อมีแรงกระทำต่อหมอนรองกระดูกที่เสื่อม อาจทำให้หมอนรองกระดูกเกิดมีการขยับหรือว่าปลิ้นไปทางด้านหลัง กดโดนเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้

หมอนรองกระดูกโดยปกติทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายและเป็นตัวให้ความยืดหยุ่น ในขณะที่มีการก้มเงย บิดตัว ของตัวกระดูกสันหลัง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของมันค่อนข้างมีความสำคัญและมันต้องทำงานทุกวันแบบไม่มีเวลาพักนั่นเอง พอมันทำงานทุกวัน ก็เลยเกิดความเสื่อมขึ้น ประจวบกับกิจกรรมเสี่ยงที่ทำอยู่ ทำให้หมอนรองกระดูกปลิ้นได้ในที่สุด

5 ความเสี่ยงในการเกิดหมอนรองกระดูกปลิ้น

  1. กิจกรรมที่ต้อง ยก, ก้ม, เอี้ยว, หมุนเอวหรือหลัง ล้วนแต่ทำให้หมอนรองกระดูกต้องทำงานหนักทั้งนั้น หากหมอนรองรับน้ำหนักไม่ไหว ก็จะเคลื่อนหรือปลิ้นได้

  2. น้ำหนักตัวที่มาก เพิ่มโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกหลังปลิ้น ตรงไปตรงมา

  3. อาชีพเสี่ยง ได้แก่ อาชีพต้องก้ม, ยก, แบก ดัน หรือบิดตัว ล้วนทำให้เกิดแรงกระทำที่หมอนรองกระดูกหลังทั้งสิ้น

  4. บุหรี่ นั้นทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกลดลง ทำให้มันอ่อนแอลง

  5. กรรมพันธุ์ มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงด้วย ไม่มาก แต่ก็มี

จะเห็นว่ามีเพียงสาเหตุเล็กๆ สาเหตุเดียวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นก็คือกรรมพันธุ์ ส่วนสาเหตุสำคัญอื่นๆ ล้วนหลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังได้ทั้งนั้น หลังจากเรารู้สาเหตุกันแล้ว ก็ไม่ยากที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกัน หมอเน้นมากๆ เพราะว่าการป้องกัน ถือเป็นหนึ่งในการรักษาที่ดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook