คนแต่ละวัย ต้องการ “แคลเซียม” เท่าไรถึงเรียกว่าเพียงพอ
แคลเซียม เป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกายของคนเรา มีความสำคัญต่อกระบวนการการทำงานของร่างกาย ในระดับเซลล์ การยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ และมีส่วนช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน
โดยเฉพาะแคลเซียมที่อยู่ในเลือด ส่งผลโดยตรงต่อการเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาท ซึ่งปกติแล้วแคลเซียมจะสะสมอยู่ในรูปกระดูกและฟัน ดังนั้น หากแคลเซียมในเลือดลดลง ร่างกายก็จะไปนำแคลเซียมที่สะสมไว้มาใช้ (หรือง่ายๆ ก็คือ สลายกระดูก) ทำให้กระดูกบาง พรุน เปราะ และหักง่าย แต่ถึงกระนั้น คนในแต่ละช่วงวัยก็ต้องการปริมาณแคลเซียมที่ไม่เท่ากัน แล้วพวกเขาต้องการแคลเซียมเท่าไรกันบ้าง
เด็กเล็ก
ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ ควรได้รับแคลเซียมวันละประมาณ 200-700 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเด็กวัยนี้จะต้องการแคลเซียมไว้สำหรับเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก ฟัน เล็บ รวมถึงช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายให้สมวัย
วัยเด็ก
ในเด็กอายุ 3-10 ปี ควรได้รับแคลเซียมวันละประมาณ 600-800 มิลลิกรัมต่อวัน เด็กวัยนี้ต้องการสารอาหารสำหรับเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากร่างกายกำลังจะพัฒนาเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เด็กมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ ยังเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังก่อรูปกระดูก หากได้รับแคลเซียมต่อวันไม่เพียงพอ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกอ่อน กระดูกไม่แข็งแรง เมื่อใช้ร่างกายหนักจะมีอาการปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ และเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย
วัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่
ตั้งแต่วัยประมาณ 11-55 ปี ควรได้รับแคลเซียมวันละประมาณ 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับวัยรุ่น ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เจริญเติบโตเร็วที่สุด จนถึงอายุประมาณ 20 ปี และเมื่ออายุเกิน 25 ปีไปแล้ว ร่างกายจะเจริญเติบโตช้าลง ในวัยผู้ใหญ่ที่เป็นวัยทำงาน จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ
ผู้สูงอายุ
คือ ผู้ที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป คนในวัยนี้เป็นวัยที่ควรได้รับแคลเซียมมากกว่าคนวัยอื่น คือ ประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัมต่อมัน เมื่อคนเราอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปแล้ว ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมน้อยลงและเริ่มไม่สะสมแคลเซียม จึงทำให้เกิดปัญหากระดูกและฟัน ทำให้กระดูกเปราะ พรุนและไม่แข็งแรง เนื่องจากแคลเซียมที่อยู่ในรูปกระดูกและฟันของคนวัยสูงอายุเสื่อมลงไปตามสภาพร่างกาย