"ผ้าสปันบอนด์" ในหน้ากากอนามัย เสี่ยง "มะเร็ง" หรือไม่?
ผ้าสปันบอนด์ เป็นผ้าที่พบว่ามีการนำมาใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย มีข้อมูลที่แชร์ต่อกันมาว่าผ้าสปันบอนด์แตกยุ่ยง่าย เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สูดดมมากๆ อาจเสี่ยงมะเร็ง ข้อมูลนี้จริงเท็จอย่างไร Sanook Health มีคำตอบจาก กรมการแพทย์ มาฝากกัน
"ผ้าสปันบอนด์" คืออะไร?
เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ้าสปันบอนด์ (spunbond) เป็นผ้าที่เกิดจากการอัดขึ้นรูป จากเส้นใยพลาสติกจำพวกโพลีพรอไพรีนโดยตรง ต่างจากการทอผ้าทั่วไปที่เอาเส้นใยสังเคราะห์มาเป็นเส้นด้ายสำหรับถักทอ และ ผ้าสปันบอนด์ มันก็ใช้เป็นองค์ประกอบปรกติมาตรฐาน ของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์อยู่แล้ว
หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่เราใช้กัน จะผลิตจากผ้าใยสังเคราะห์ 3 ชั้น มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น ป้องกันของเหลวซึมผ่าน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการไอหรือจาม
ซึ่งผ้าใยสังเคราะห์ทั้ง 3 ชั้น จะผลิตจากวัสดุต่างกัน ดังนี้
- ชั้นนอก ทำจากวัสดุผ้าสปันบอนด์โพลีพรอไพลีนสังเคราะห์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ยอมให้อากาศผ่านเข้าออก และไม่ดูดซึมน้ำ มีความหนาตั้งแต่ 14-20 กรัม
- ชั้นกลาง ทำจากแผ่นกรองที่เรียกว่า Melt Blown Filter ซึ่งมีความหนาตั้งแต่ 20-25 กรัม (แผ่นกรองนี้ ยิ่งหนา ยิ่งมีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคที่ดีกว่า)
- ชั้นใน ทำมาจากวัสดุผ้าสปันบอนด์โพลีพรอไพลีน เช่นเดียวกันกับชั้นนอก แต่จะมีความหนาตั้งแต่ 20-25 กรัม
ผ้าสปันบอนด์ เสี่ยงมะเร็ง?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลหน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์ ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ของโพลิเมอร์ ที่เป็น “Polypropylene (PP) นั้นซึ่งมีกลิ่นฉุน แตกยุ่ยได้ง่าย จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่าไมโครพลาสติก หากสูดดมเข้าไปในร่างกาย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า หน้ากากอนามัยผลิตจากใยสังเคราะห์ประเภทเดียวกันกับผ้าสปันบอนด์ ซึ่งทำมาจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene
จากรายงานขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer; IARC) ระบุว่าพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ หรืออยู่ในกลุ่ม 3 ดังนั้น ปัจจุบันการใช้หน้ากากอนามัยที่ทำมาจากผ้าสปันบอนด์ จึงยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้เกิดโรคมะเร็ง
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า พลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่นำมาใช้ผลิตผ้าสปันบอนด์ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไปทำให้เกิดความกังวลว่าพลาสติกชนิดนี้จะย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ยืนยันแน่ชัดถึงไมโครพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมแล้วก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยจากใยสังเคราะห์สปันบอนด์