อาการแบบไหน ควร "ส่องกล้อง" ตรวจดู "ลำไส้ใหญ่"
ความน่ากลัวของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่ใช่แค่อาการและความอันตรายต่อชีวิตเท่านั้น แต่ความน่ากลัวที่แท้จริงของลำไส้ใหญ่ คือมักไม่แสดงอาการชัดเจน และทำให้ตรวจพบเมื่อโรคลุกลามไปมากแล้ว
ทำไมเราถึงควรเข้ารับการตรวจส่องกล้องในลำไส้ใหญ่?
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ระบุว่า ที่จริงแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากพบแต่เนิ่นๆ ทำให้เพิ่มโอกาสการรักษาได้สูงขึ้นมาก ด้วยเหตุนี้การตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ใครควรเข้ารับการตรวจส่องกล้องในลำไส้ใหญ่?
CDC แนะนำให้ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ที่อายุ 50-75 ปี ทุกคน (เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น)ในคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ควรตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อตัวเองหรือญาติสายตรงมีประวัติมีติ่งเนื้อในลำไส้ หรือเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในผู้ที่มีประวัติ Inflammatory bowel disease, หรือมีความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการแบบไหน ควร "ส่องกล้อง" ตรวจดู "ลำไส้ใหญ่"
อาการทางด้านระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนไป เช่น
- ถ่ายมีเลือด
- ท้องผูกสลับท้องเสีย
- ถ่ายก้อนเล็กลง
จากอาการเหล่านี้ อาจจะทำให้สงสัยถึงความผิดปกติของลำไส้จนมาพบแพทย์ได้ แต่มีอาการอีกกลุ่มซึ่งโดยทั่วไปน้อยคนนักจะฉุกใจคิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และนั่นก็อาจทำให้การตรวจพบนั้นช้าออกไป เช่น
- ซีด
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นหนึ่งในวิธีที่ถูกนำมาใช้ตรวจหาโรคนี้ โดยมีประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญคือสามารถตัดชิ้นเนื้อในลำไส้ใหญ่ไปตรวจได้ โดยไม่ต้องผ่าเปิดช่องท้อง หรือสามารถตรวจหาความผิดปกติของโรคอื่นๆที่เป็นสาเหตุทำให้อาการของลำไส้เปลี่ยนแปลงได้อีกด้วย