7 วิธีลดเสี่ยง “หลอดเลือดสมอง” ในผู้สูงอายุ
โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) เป็นอาการผิดปกติของสมองอย่างฉับพลัน อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ชี้สามารถป้องกันและควบคุมได้ โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา ตรวจสุขภาพประจำปี
รู้จักโรคหลอดเลือดสมอง (STROKE)
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และมักพบว่าผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากกว่าวัยอื่นๆ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น หลอดเลือดจะเสื่อมสภาพและอาจมีไขมัน หินปูน มาเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้แคบลงจนเกิดเส้นเลือดตีบแข็ง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่ต้องได้รับการดูแล รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างต่อเนื่อง
สัญญาณอันตราย อาการเบื้องต้นของโรคหลอดเลือดสมอง
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้สูงอายุสามารถสังเกตอาการเบื้องต้น ดังนี้
- แขน ขา ชาหรืออ่อนแรงด้านใดด้านหนึ่ง
- สับสน
- พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง
- การมองเห็นลดลงหรือเห็นภาพซ้อน
- มีปัญหาเดินเซ
- มึนงง ปวดศีรษะรุนแรง
หากมีอาการเหล่านี้ ให้รีบมาพบแพทย์ด่วนที่สุด โดยไม่รอเพราะถ้ามาเร็วภายใน 4 ชั่วโมงหลังเกิดอาการจะทำให้การรักษาได้ผลดี เพื่อรักษาชีวิตและฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงได้มากที่สุด
วิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
สำหรับวิธีการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ปกติ
- งดสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา
- ควบคุมน้ำตาล ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จำเป็นต้องรักษาหรือฟื้นฟูด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ร่างกายมีสภาพที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ควรทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วยและผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม