ยุงร้ายกว่าเสือ แต่เหนือกว่ายุงคือ ตะไคร้หอม

ยุงร้ายกว่าเสือ แต่เหนือกว่ายุงคือ ตะไคร้หอม

ยุงร้ายกว่าเสือ แต่เหนือกว่ายุงคือ ตะไคร้หอม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียน โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย
ที่มา สมุนไพรเพื่อสุขภาพ, มติชนสุดสัปดาห์
เผยแพร่ 5 ก.พ. 59


แม้แฟนคลับหลายคนยังทำใจไม่ได้กับการสูญเสียพระเอกหนุ่มน้ำดีมีจิตอาสาอย่าง ปอ ทฤษฎี สหวงษ์

แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้แปรความเศร้าโศกให้กลายเป็นโอกาสในการรณรงค์ปราบยุงลายซึ่งเป็นพาหะของเชื้อไข้เลือดออกด้วยการทำลายแหล่งเพาะและแพร่ยุง

ดังที่รู้กันว่ายุงเป็นพาหะของโรคร้ายแรงหลายโรคในประเทศเขตร้อน รวมทั้งประเทศไทยที่มีสภาพอากาศเอื้อต่อการแพร่กระจายพันธุ์ยุงร้ายหลายชนิด อาทิ ยุงลาย (Aedes) นำเชื้อไข้เลือดออก ยุงก้นปล่อง (Anopheles) นำเชื้อไข้มาลาเรีย แม้แต่ยุงรำคาญ (Culex) และยุงเสือ (Mansonia) ก็ยังสามารถนำเชื้อไข้สมองอักเสบได้

ในปี 2554 เคยมีรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ทุกๆ 45 วินาทีจะมีเด็กแอฟริกันตายเพราะถูกยุงกัด คนไทยรู้พิษสงของยุงมานานแล้วถึงกับให้ฉายาว่า “ยุงร้ายกว่าเสือ”

ดังที่เป็นข่าวครึกโครมในขณะนี้ก็คือ ไข้ซิก้า (Zika Fever) ซึ่งกำลังระบาดหนักอยู่ในละตินอเมริกา แอฟริกา และแถบแคริบเบียน ถึงขนาดบางประเทศอย่างบราซิลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปราบยุงลายที่เป็นสาเหตุทำให้ทารกเป็นโรคสมองเล็ก (Microcephaly) กว่า 4,000 ราย และพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิก้านับแสนคน

และเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทางการไต้หวันก็ตรวจพบคนไทยรายแรกผู้ติดเชื้อซิก้าที่สนามบินเถาหยวน

กระทรวงสาธารณสุขไทยจึงไม่อาจนิ่งเฉยกับเสือจิ๋วติดปีกอย่างยุงลายได้ เพราะมันไม่เพียงเป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออกเด็งกี่ (Dengue) หลายสายพันธุ์ รวมทั้งโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) ด้วย แต่ยังนำเชื้อไข้สมองอักเสบ ไข้เหลืองและโรคประหลาดอย่าง ไข้เวสต์ไนล์ และล่าสุดคือไข้ซิก้า

ตามปกติเมื่อพ้นฤดูฝนเข้าต้นแล้งยามนี้ก็น่าจะพ้นช่วงอันตรายจากยุงลายไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงกลับปรากฏว่า สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกในช่วงต้นปีลิงนี้มิได้ลดลงเลย แค่ช่วงสั้นๆ วันที่ 1-11 มกราคม 2559

ก็พบผู้ป่วยใหม่ทั่วประเทศ 583 ราย และคาดว่าในปีนี้จะมีผู้ป่วยมากกว่า 160,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าปีที่ผ่านมา คือตลอดปี 2558 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั้งหมด 142,925 ราย ตาย 141 คน ซึ่ง คุณปอ ทฤษฎี ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ด้วย

เมื่อยุงลายร้ายกาจขนาดนี้ ประชาชนเองก็ต้องไม่ประมาทในการดูแลตัวเองเชิงป้องกันอย่างเข้มงวด แต่การป้องกันโดยใช้สเปรย์เคมีฉีดฆ่ายุง (insecticide) หรือเคมีไล่ยุง (repellents) ย่อมเสี่ยงต่อพิษข้างเคียงเหมือนหนีเสือปะจระเข้ หรือหนียุงปะเคมีพิษนั่นเอง

นับว่าโชคดีที่ทุกสรรพสิ่งมีของคู่ไว้แก้กัน เขตร้อนเป็นแหล่งยุงชุม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการป้องกันและกำจัดแมลงได้ โดยเฉพาะกลุ่มสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย (volatile oils) แน่นอนสารป้องกันยุงจากธรรมชาติย่อมปลอดภัยกว่าสารเคมีสังเคราะห์เมื่อต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน

กลุ่มสมุนไพรไล่ยุงที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ทาผิวกันยุง ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ พืชพันธุ์กลุ่มตะไคร้ ในสกุล Cymbopogon ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันยุงลาย ยุงก้นปล่อง และยุงรำคาญได้นานกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและสูตรตำรับ เช่น ตะไคร้บ้าน (Cymbopogon citratus (DC.) Stapf) ที่ใช้ทำต้มยำ เมื่อใช้น้ำมัน (Lemongrass oil) เข้มข้น 20-25% ในพาราฟินเหลว (liquid paraffin) มีฤทธิ์ป้องกันยุงลายกัดได้ผล 100% ใน 1 ชั่วโมงแรก และได้ผล 95% ภายใน 3 ชั่วโมงต่อมา แต่ถ้าทำผลิตภัณฑ์น้ำมันตะไคร้ 15% ในรูปขี้ผึ้งพบว่ามีประสิทธิผลเท่ากัน

แต่ถ้าใช้ต้นตะไคร้หอม (Cymbopogon nardus (L.) Rendle) ก็จะมีประสิทธิภาพไล่ยุงได้ดีกว่า พบว่าเพียงใช้สารสกัดแอลกอฮอล์ของต้นตะไคร้หอมผสมกับน้ำมันมะกอกก็สามารถไล่ยุงลายได้นาน 2 ชั่วโมง

แต่ถ้าต้องการให้มีฤทธิ์ยาวนานกว่านั้น ก็ต้องเตรียมสูตรตำรับที่มีน้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) 17% ในรูปแบบครีม สามารถป้องกันยุงลายนานกว่า 3 ชั่วโมง

แถมเคล็ดลับคือถ้าเติมสารวานิลินลงในครีมนิดหน่อยก็จะเพิ่มความคงตัวของน้ำมันตะไคร้หอม เสริมให้ผลิตภัณฑ์ออกฤทธิ์ป้องกันยุงลายได้นานกว่า 4 ชั่วโมง

มีการทดลองเตรียมสบู่เหลวอาบน้ำที่มีส่วนประกอบของน้ำมันตะไคร้หอมเพียง 0.1% น้ำมันตะไคร้ 0.5% และน้ำมันสะเดา (neem oil) 1% สามารถไล่ยุงลายและยุงรำคาญได้นานถึง 8 ชั่วโมง

ขณะนี้มีการทำผลิตภัณฑ์ไล่ยุงจากน้ำมันสมุนไพรดังกล่าวออกสู่ตลาด แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเพราะมีราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์เคมี 2-3 เท่า แต่ถ้าหน่วยงานรัฐอุดหนุนส่งเสริมเกษตรกรและสนับสนุนเทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันตะไคร้หอมให้แพร่หลาย อาจทำให้ราคาผลิตภัณฑ์ถูกลงแข่งกับผลิตภัณฑ์เคมีได้ ซึ่งปลอดภัยกว่าด้วย

สู้กับยุงที่ร้ายกว่าเสือ ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ในที่นี้ขอเสนอแนะว่านอกจากมาตรการ 3 เก็บ คือเก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำแล้ว กระทรวงสาธารณสุขควรร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อป้องกันยุงลายที่มีราคาไม่แพง

ประชาชนจะได้มีกำลังซื้อไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็จะทำให้สถิติผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากเชื้อยุงลายในประเทศไทยลดน้อยลงได้แน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook