กักตัว "14 วัน" อย่างไร ให้ปลอดภัยกับคนในบ้าน
การกักตัว 14 วัน เป็นหลักการขั้นพื้นฐานในการจำกัดการติดเชื้อของผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือไปตรวจแล้วอยู่ในระหว่างรอผลตรวจ
จริงๆ แล้วการกักตัว คือการอยู่คนเดียวในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ใกล้ชิดกับคนอื่นเป็นเวลา 14 วัน เมื่อเห็นว่าไม่มีอาการคล้ายติดโควิด-19 หรือผลตรวจออกมาพบว่าไม่ติดเชื้อ จึงค่อยใช้ชีวิตร่วมกับคนในครอบครัวตามปกติ แต่หากจำเป็นต้องอยู่กับคนอื่นๆ ภายในบ้าน เพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวยให้กักตัวอยู่คนเดียว 100% ได้ Sanook Health ก็มีวิธีกักตัว 14 วันให้ปลอดภัยกับคนในบ้าน จาก สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มาฝากกัน
กักตัว "14 วัน" อย่างไร ให้ปลอดภัยกับคนในบ้าน
การแยกห้องและของใช้
- อยู่ในห้อง แยกจากครอบครัว โดยแยกห้องนอนกัน
- หากแยกห้องนอนไม่ได้ ให้ใช้แผ่นกั้นห้องแบบพลาสติกแบ่งสัดส่วน
- เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
- แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกันเด็ดขาด
- ทิ้งขยะติดเชื้อแยกใช้เฉพาะส่วนตัว
การรับประทานอาหาร
- ก่อนรับประทานอาหาร ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ อย่างน้อยครั้งละ 20 วินาที
- ไม่รับประทานอาหารร่วมกับคนในครอบครัว ให้ตักแบ่งมานั่งรับประทานคนเดียว
- หากให้ผู้อื่นจัดหาอาหารให้ ควรกำหนดจุดรับเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง
การทำความสะอาด
- เสื้อผ้า ชุดเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว แยกทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกตามปกติ หรือซักร่วมกับน้ำร้อน
- ของใช้ที่สัมผัสบ่อย เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90%
- ห้องสุขา สุขภัณฑ์ พื้นบ้าน ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% แต่อย่าฉีดพ่น
การใช้ห้องสุขา
- แยกใช้ห้องสุขาส่วนตัว
- หากแยกใช้สุขาคนเดียวไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที
- กรณีที่ใช้ชักโครก ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ข้อปฏิบัติสำคัญ
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ อย่างน้อยครั้งละ 20 วินาที
- สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
- อยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร หรือ 1-2 ช่วงแขน
การจัดการขยะ
ให้แยกขยะเป็น 2 ประเภท
- ขยะทั่วไป
- ขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวม และล้างถังด้วยน้ำยาฟอกขาว เพื่อทำลายเชื้อ
ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น ก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป