วิธีตรวจ “โควิด-19” ในไทย มีอะไรบ้าง พร้อมข้อดี-ข้อเสีย
โควิด-19 ระบาดระลอกสอง ซึ่งรุนแรงมากกว่ารอบแรกที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ป่วยและกระจายไปยัง 56 จังหวัดทั่วประเทศ สร้างความกังวลใจของประชาชนทั้งกลุ่มเสี่ยงและไม่เสี่ยงจนหลายคนมองหาวิธีการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 ทั้งแบบตรวจที่โรงพยาบาล และชุดตรวจที่สามารถหาซื้อมาตรวจได้เอง แต่ละแบบเป็นอย่างไร แบบไหนเหมาะกับเรา Sanook Health มีข้อมูลจาก สำนักกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาฝากกัน
วิธีตรวจ “โควิด-19” ในไทย มีอะไรบ้าง
ปัจจุบัน วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยใช้มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่
-
การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR
เป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและประเทศไทยพร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน
ข้อดี
- มีความไว มีความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง
- สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ ได้ในรูปแบบของสารพันธุกรรม ดังนั้น ไม่ว่าจะ เชื้อเป็น หรือเชื้อตาย ตรวจจับได้หมดจาก สารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่าง ของ ผู้สงสัยติดโควิด-19
ข้อเสีย
การตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน
ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่เหมาะสม สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้
โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือ ป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในเซลล์จึงต้องขูดออกมา และหากเชื้อลงไปในปอด ก็จะต้องนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจ
-
การตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว Rapid Test
เก็บตัวอย่างด้วยการเจาะเลือด สามารถทราบผลใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5 - 7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ดังนั้น การใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ โดยปกติธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากมีอาการประมาณ 5-7 วัน โดยการตรวจดังกล่าว อย.อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาล ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น
ข้อดี
- ทราบผลเร็ว ภายในไม่ถึงชั่วโมง
- อุปกรณ์ตรวจสำเร็จรูป ใช้ง่าย ไม่ต้องมีความชำนาญมากเป็นพิเศษก็สามารถใช้ได้
- เหมาะกับการใช้ตรวจในกรณีเร่งด่วน เช่น ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- เหมาะกับการคัดกรองวงกว้าง เพื่อควบคุมการกระจายเชื้อ
ข้อเสีย
อาจพบผลลบลวงได้ คือเป็นโรค แพร่เชื้อได้ แต่ผลเทสต์เป็นลบอยู่ หากมาตรวจในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ
นอกจากนี้ โรงพยาบาลต่างๆ ยังเพิ่มบริการ ตรวจโควิด-19 แบบ Drive Thru Test เพื่อความสะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องลงจากรถอีกด้วย
ชุดตรวจโควิดจากการเจาะเลือดปลายนิ้ว ปลอดภัย และแม่นยำมากแค่ไหน?
ปัจจุบันมีการพูดถึงการตรวจแบบ Rapid test Antibody ที่เป็นชุดตรวจจากการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว และมีการจำหน่ายให้ซื้อหาได้ทั่วไป แต่สำนักกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เตือนว่า อย่าหาซื้อชุดตรวจโควิด Rapid Test ที่ลักลอบขายผ่านออนไลน์ มาตรวจเอง เพราะเสี่ยงต่อการแปลผลที่ผิดพลาด เนื่องจากชุดตรวจโควิด แบบ Rapid Test เป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน ไม่ได้เป็นการตรวจหาเชื้อ ดังนั้น จึงต้องได้รับเชื้อในระยะเวลาหนึ่งถึงจะตรวจพบภูมิต้านทาน หากเพิ่งได้รับเชื้อจะตรวจไม่พบในทันที จึงเป็นข้อจำกัดของชุดตรวจชนิดนี้ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการตรวจและแปลผลโดยผู้เชี่ยวชาญหรือนักเทคนิคการแพทย์เท่านั้น
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พูดถึงชุดตรวจโควิด Rapid Test Antibody ที่ลักลอบขายในโลกออนไลน์ว่า "ไม่แนะนำให้ใช้โดยทั่วไป และบางครั้ง ตรวจแล้วคิดว่าตัวเองปลอดภัยก็อาจทำตัว ตามปกติ เอาเชื้อไปติดคนอื่นต่อได้ อาจส่งผล ทำให้การระบาดของโรครุนแรงยิ่งขึ้นจากการ แปลผลที่ผิดพลาด รวมถึงมีโอกาสที่เกิดผลลวง ได้ ชุดตรวจ Rapid Test โควิด-19 ตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องขายเฉพาะแก่สถานพยาบาล หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ และ สาธารณสุขเท่านั้น และจะต้องจัดทำรายงานการขาย ให้ อย. ทราบ"
หากสนใจเข้ารับการตรวจโควิด-19 สามารถเช็กโรงพยาบาล และห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญ ทางห้องปฏิบัติการ เครือข่ายตรวจ SARS- CoV-2 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 247 แห่งทั่วประเทศ ได้ทางออนไลน์ ในเว็บไซต์ https://service.dmsc.moph.go.th/labscovid19