อันตรายจาก "ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก" จากการใช้งานหนัก
เมื่อคุณดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยใช้งานร่างกายหนักเกินไป จนทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวังให้ดี เพราะคุณนั้นอาจได้รับความเสี่ยงของการเกิด ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก ก็เป็นได้ Hello คุณหมอ จึงขอนำความรู้ถึงวิธีการรักษา หรือการดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าวมาฝากทุกคนกัน
สาเหตุของการเกิด ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก
ภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก (Rotator Cuff Tear) สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมของคุณเอง โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การเล่นกีฬา การยกของหนักที่มีการเคลื่อนไหวของแขนในระดับเหนือศีรษะอย่างเป็นประจำ ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนี้อาจทำให้กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณที่ยึดติดกับข้อหัวไหล่ลามไปถึงโครงแขนเกิดการฉีกขาด และทำให้คุณรู้สึกเกิดการเจ็บปวดขึ้นเมื่อมีการยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ หรือหมุนแขนไปมาได้
อีกทั้งครอบครัวที่มีประวัติในการเกิดภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกนี้ ก็สามารถส่งความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ผ่านทางพันธุกรรมไปยังบุคคลอื่นๆ ในครอบครัวตนเองต่อกันได้อีกด้วย ดังนั้น ไม่ว่าตัวคุณจะประสบกับ เส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก มาด้วยสาเหตุใดก็ตาม คุณควรระมัดระวังถึงการเคลื่อนไหวให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการเจ็บปวดที่อาจตามมาได้ในอนาคต
อาการที่เกิดขึ้น เมื่อภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก
ในบางกรณีของผู้ป่วยที่ประสบกับ เส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก อาจไม่ส่งผลอาการใดๆ ให้สังเกตแน่ชัดมากนัก แต่ในบางครั้งก็อาจเผยอาการ ดังต่อไปนี้ ออกมาให้คุณได้รู้สึกถึงความผิดปกติเล็กน้อยได้
- เจ็บปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหวของแขน
- แขนอ่อนแรง ไม่สามารถยกของได้เหมือนปกติ
- ได้ยินเสียงบางอย่างภายในแขน เมื่อมีการเคลื่อนไหว
- การเคลื่อนไหวของแขนเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวไปทางด้านหลัง
เมื่อคุณเช็กตนเองแล้วว่าจัดอยู่ในกลุ่มอาการเหล่านี้ โปรดรีบเข้ารักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทันที เพราะมิเช่นนั้นอาจทำให้คุณประสบกับอาการรุนแรงอย่าง ข้ออักเสบ อาการไหล่ติด ที่ยากต่อการรักษากว่าอาการเริ่มต้นที่คุณประสบอยู่ และอาจเป็นการสะสมอาการเจ็บปวดให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
วิธีรักษาที่เหมาะสมของภาวะ เส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก โดยแพทย์
ก่อนที่แพทย์จะดำเนินการเริ่มการรักษาให้คุณ แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจสอบกล้ามเนื้อ และเส้นเอ็นบริเวณข้อหัวไหล่ที่ฉีกขาดเสียก่อน ซึ่งอาจมีการอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เอกซเรย์ (X-rays) หรือการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ตามความเหมาะสม เพื่อดูโครงสร้างของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติของข้อหัวไหล่ ก่อนเริ่มรักษาด้วยวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้
การทำกายภาพบำบัด เป็นการปรับการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่คุณบาดเจ็บ เพื่อช่วยฟื้นคืนความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ การฉีดยา วิธีนี้อาจช่วยลดอาการเจ็บปวดได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากการฉีดยาสเตรียรอยด์อาจทำให้เส้นเอ็นอ่อนแอลง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำเป็นการใช้วิธีนี้หลังจากทำกายภาพบำบัด หรือช่วงเวลาที่เกิดการเจ็บปวดมากขึ้นเท่านั้น การผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็นอีก 4 ประเภทด้วยกัน คือ การผ่าตัดแบบซ่อมแซมเส้นเอ็นที่อักเสบ การซ่อมแซมเส้นเอ็นด้วยการผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ การถ่ายโอนเส้นเอ็น และการเปลี่ยนข้อไหล่เทียม โดยมีการวินิจฉัยเลือกวิธีการผ่าตัดแบบใดก็ขึ้นอยู่กับอาการ หรือสาเหตุที่ผู้ป่วยประสบมา
หลังจากการรักษา เส้นเอ็นข้อไหล่ฉีก สิ้นสุดลง คุณควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันตนเองร่วมด้วย โดยพยายามหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการเคลื่อนไหวของแขนเหนือศีรษะ หรือปฏิบัติพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้น้อยที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้คุณนั้นกลับมาบาดเจ็บกับภาวะเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกซ้ำอีกครั้ง