จ้องมือถือ-คอมพิวเตอร์ ในที่มืดนานๆ เสี่ยง “มะเร็งตา-ตาบอด” จริงหรือไม่?
หลายครั้งที่เรามักพบเห็น หรืออาจจะเคยทำด้วยตัวเอง นอนสไลด์มือถืออ่านทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือแม้กระทั่งดูคลิปจากยูทูปก่อนนอน (บางคนเล่นจนหลับเผลอปล่อยมือถือหลุดมือหล่นใส่หน้า เจ็บจนต้องเสียน้ำตากันมาแล้ว) แต่การใช้สายตาเพ่งลงไปบนจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ทำร้ายดวงตามากแค่ไหน ถึงขั้นเสี่ยงมะเร็งตา หรือทำให้ตาบอดได้หรือไม่ Sanook Health มีคำตอบมาฝากกัน
จ้องมือถือ-คอมพิวเตอร์ ในที่มืดนานๆ เสี่ยง “มะเร็งตา-ตาบอด”?
นพ.นนท์ รัตนิน จักษุแพทย์จากโรงพยาบาลจักษุรัตนิน ระบุว่า แสงที่ปล่อยจากมือถือในที่มืด และที่สว่างไม่ได้มีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือสิ่งแวดล้อม เมื่อเราอยู่ในที่มืด ม่านตาของเราจะขยายมากขึ้น ถ้ามีแสงสว่างจ้าเกิดขึ้นทันทีในขณะที่เราอยู่ในที่มืด ม่านตาเราก็จะหดตัว การที่ดวงตาของเรารับแสงสว่างสลับกับความมืดภายในห้องบ่อยๆ จากการจ้องมือถือ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นเวลานาน จะทำให้ม่านตาของเราต้องขยายและหดตัวบ่อยครั้ง จึงอาจส่งผลทำให้ม่านตาล้าเร็วขึ้น แต่ไม่ได้อันตรายถึงขั้นทำให้เป็นมะเร็งตา หรือทำให้ตาบอดได้
อันตรายต่อดวงตา จากการจ้องมือถือ-คอมพิวเตอร์ ในที่มืดนานๆ
แม้ว่าจะไม่ได้อันตรายถึงขั้นเป็นมะเร็งตา หรือทำให้ตาบอดโดยตรง แต่การเล่นมือถือในที่มืดอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ม่านตาล้า เสี่ยงโรคตาแห้ง เพราะการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เรากระพริบตาน้อยลง ทำให้ตาแห้งมากขึ้น ยิ่งเจอแสงสว่างเข้าที่ดวงตา ก็จะยิ่งทำให้ตาแห้งมากยิ่งขึ้นไปอีก
สัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าอาจกำลังมีปัญหาตาแห้ง คือ ตาแดง แสบเคืองตา ตามัว น้ำตาไหล
ใช้มือถือ คอมพิวเตอร์อย่างไร ให้ปลอดภัยต่อดวงตา
- ปรับความสว่างของหน้าจอให้อยู่ในระดับที่พอดี พอมองเห็นจอได้ชัด ไม่สว่างจ้าหรือมืดจนเกินไป
- อย่าให้มีแสงจากเพดาน หรือแสงจากนอกห้อง สะท้อนหน้าจอเข้าที่ดวงตา
- พักสายตาบ่อยๆ ระหว่างใช้งาน เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์ 20 นาที หยุดทำงานเพื่อหลับตาลง 20 วินาที
- ถ้ายังมีอาการตาแห้งอยู่ ควรใช้น้ำตาเทียม