"โควิด-19" กับผลกระทบในผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท

"โควิด-19" กับผลกระทบในผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท

"โควิด-19" กับผลกระทบในผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบันประชากรไทยยังคงต้องเผชิญกับไวรัสโควิด-19 โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบหายใจ เช่นมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสแต่เชื้อไวรัสโควิด-19  นอกจากจะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจแล้ว ในผู้ป่วยบางรายยังสามารถส่งผลกระทบกับระบบอื่นของร่างกายได้เช่นกัน ได้แก่ โรคทางระบบประสาท

นพ.ชัยศักดิ์ ดำริการเลิศ แพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพฤติกรรมประสาทวิทยาและโรคสมองเสื่อม รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า มีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 สามารถพบอาการทางระบบประสาทได้ถึง 36% ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) และระบบประสาทส่วนปลาย (Peripheral Nervous System) โดยคาดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการที่เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในระบบประสาทได้โดยตรงและไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้มีการบาดเจ็บของเซลล์ประสาทตามมา จากงานวิจัยดังกล่าวพบว่า อาการทางระบบประสาทในผู้ป่วยโควิด-19 มีได้ตั้งแต่อาการเพียงเล็กน้อย เช่น มึนศีรษะ ปวดศีรษะ การรับรสหรือรับกลิ่นลดลง อาการปวดเส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อ จนถึงอาการรุนแรง เช่น การรับรู้สติสัมปชัญญะที่ลดลง อาการชัก หรืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง

มีรายงานผู้ป่วยเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)โรคในกลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร (GuillainBarre Syndrome) และโรคสมองขาดเลือดฉับพลันในคนไข้อายุน้อยจากการอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Acute Ischemic Stroke) ได้อีกด้วยสำหรับคนที่มีโรคทางระบบประสาทอยู่เดิม เช่น โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ หรือ โรคพาร์กินสัน จากงานวิจัยจนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่าโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ผู้ป่วยระบบประสาท ห้ามขาดยา เพราะอาจเสี่ยงโควิด-19 มากขึ้น

อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวทางระบบประสาทดังกล่าวบางส่วนมีอายุค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าในคนสูงอายุนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่าย จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยที่มีโรคประจำทางระบบสมองและประสาทดังกล่าวควรรับประทานยาต่อเนื่อง ดูแลสุขภาพตนเองให้ดี และมีการป้องกันการติดเชื้อที่ถูกต้องร่วมด้วยในโรคทางระบบประสาทบางอย่าง เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมายแอสทีเนียกราวิส (Myasthenia Gravis) โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP) ผู้ป่วยบางคนจำเป็นต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกันในการควบคุมโรค ซึ่งจากข้อมูลจนถึงปัจจุบัน พบว่ายากลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ทานยาแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้หยุดยาดังกล่าวก่อนการปรึกษาแพทย์ที่จ่ายยาในกลุ่มคนไข้โรคหลอดเลือดสมองหรือสมองเสื่อม

ดูแลผู้ป่วยระบบประสาทในช่วงโควิด-19 ระบาดอย่างไร?

การดูแลผู้ป่วยไม่ได้ต่างกับคนทั่วไป เพียงแต่ว่าต้องเฝ้าระวังเรื่องคนที่คอยดูแลใกล้ชิด เนื่องจากผู้ป่วยสองกลุ่มนี้ส่วนมากมักจะมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันต่างๆ หรืออาจมีนักกายภาพบำบัดมาฝึกกายภาพให้ผู้ป่วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อต่อคนไข้ได้ จึงแนะนำว่าหากคนดังกล่าวมาดูแลคนไข้ที่บ้าน ต้องให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและล้างมือสม่ำเสมอ ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องออกไปข้างนอก สามารถทำได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการ การปฏิบัติตัวเหมือนคนปกติทั่วไป คือ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือเมื่อสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ไม่เอามือขยี้ตาหรือสัมผัสใบหน้า เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส

การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากจะทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้หลากหลายแบบ ซึ่งอาการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ได้จำเพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ บางครั้งอาการที่เป็นอาจเป็นจากสาเหตุอื่น ไม่ได้เป็นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เสมอไป หากมีอาการหรือข้อสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทเพื่อทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของอาการต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook