6 วิธีดูแลสุขภาพ เสริมสร้างภูมิต้านทาน
โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร บางคนมองจากภายนอกก็ดูแข็งแรงดี ไม่มีปัญหาสุขภาพ แต่เมื่อได้ไปพบแพทย์ (ปกติไม่ค่อยตรวจสุขภาพ) อาจจะพบกับโรคร้ายที่คาดไม่ถึงก็ได้ ดังนั้น การเสริมสร้างภูมิต้านทานจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ซึ่งวิธีการเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายนั้น ส่วนใหญ่เราก็รู้วิธีกันดี แต่ไม่ค่อยจะทำ ทั้งที่ไม่ได้ยากเย็นอะไร Tonkit360 จึงจะมาแนะนำวิธีเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายอย่างง่ายๆ ง่ายมากๆ ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ไม่ต้องกินวิตามิน แค่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์เล็กน้อยก็สุขภาพดีได้แล้ว
6 วิธีดูแลสุขภาพ เสริมสร้างภูมิต้านทาน
- กินอาหารเช้า
การกินอาหารเช้ามีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด โดยเฉพาะกับสมองที่เป็นศูนย์กลางควบคุมระบบอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย สมองเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานมากที่สุดและฟุ่มเฟือยที่สุดในร่างกาย (เมื่อเทียบกับขนาด) ในขณะที่เราอยู่เฉยๆ สมองก็ใช้พลังงานไปถึง 20-25 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทั้งหมดแล้ว ดังนั้น การกินอาหารเช้า หรือกินให้ครบ 3 มื้อจึงสำคัญ เพื่อให้มีพลังงานไปเลี้ยงสมอง
ในวัยผู้ใหญ่ ผู้ชายต้องการพลังงานวันละประมาณ 1,800-2,500 kcal ส่วนผู้หญิงต้องการพลังงานวันละประมาณ 1,500-2,000 kcal ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าเวลาที่เราหิวข้าวสมองถึงไม่ค่อยจะตอบสนองในการทำงาน คิดงานไม่ออก นั่นเป็นเพราะสมองขาดพลังงาน ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่สักแต่กิน กินแบบไม่เลือก ให้เลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้เหมาะสมกับมื้ออาหารจะดีกว่า
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ
กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของร่างกายประกอบไปด้วยน้ำ อยู่ในเซลล์ต่างๆ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ อยู่นอกเซลล์ 30 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆ อีก 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าหากร่างกายขาดน้ำหรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ เซลล์ต่างๆ จะเริ่มทำงานผิดปกติ ระบบการทำงานของร่างกายมีปัญหา และส่งผลต่อสุขภาพในที่สุด
อย่างไรก็ตาม น้ำเปล่า เป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุดแล้วสำหรับร่างกาย เพราะน้ำเปล่าไม่มีพลังงาน จะดื่มมากแค่ไหนก็ได้ไม่ทำให้อ้วน ดังนั้น ใน 1 วัน เราจึงควรจิบน้ำบ่อยๆ ให้ได้ปริมาณวันละ 8 แก้ว หรือประมาณ 2-3 ลิตร และงดน้ำหวาน ชา กาแฟ มาดื่มน้ำเปล่าแทน
- นอนให้พอ
การนอน เป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย ในขณะนอนหลับ ร่างกายจะค่อยๆ ฟื้นฟู ซ่อมแซมเซลล์และอวัยวะต่างๆ ที่มีปัญหา ถ้าเราพักผ่อนน้อย นอนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมงติดต่อกัน ร่างกายจะเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ มีปัญหาเรื่องความทรงจำ ร้ายแรงที่สุดคือสมองไม่ตอบสนอง ก็ทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมและสั่งการร่างกาย มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย นั่นจึงแปลว่าร่างกายคนเราต้องการการพักผ่อนที่เพียงพอและสมดุลทุกวัน เพื่อสุขภาพที่ดี
- ออกกำลังกาย
ใครๆ ก็รู้ว่าการออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายแข็งแรง สร้างภูมิต้านทาน และยังส่งผลดีต่อการทำงานของระบบต่างๆ แต่ท้ายที่สุดไม่ใช่ทุกคนที่จะลุกมาออกกำลังกาย ซึ่งเราควรออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพในทุกด้าน ทั้งความทนทาน ความแข็งแรง การทรงตัว และความยืดหยุ่น เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากการออกกำลังกายแต่ละด้านจะแตกต่างกันไป แต่ไม่ควรหักโหม เพราะการออกกำลังกายที่ได้ผลดี ควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ นานครั้งละประมาณ 30 นาที จึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
- ผ่อนคลายความเครียด
บางคนเครียดโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเครียด เพราะคิดว่าตนเองยังยิ้มได้ หัวเราะได้ กินได้นอนหลับ แต่แท้จริงแล้วที่ความเครียดแฝงอยู่ ความเครียดที่เกินรับมือส่งผลถึงร่างกาย สัญญาณแรกๆ คืออาการปวดหัวอย่างรุนแรงต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หากเครียดสะสมเรื้อรังเป็นเวลานาน จะทำให้มีอาการจิตตก ซึ่งมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้
ดังนั้นความเครียดที่มากเกินรับมือทำให้ร่างกายพัง ก็ต้องหาวิธีผ่อนคลายความเครียด ลองออกไปใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยทำ เปลี่ยนบรรยากาศที่หดหู่อยู่ทุกวันบ้าง ก็จะช่วยเพิ่มความสดชื่นได้เยอะเลยทีเดียว
- ลด ละ เลิก
การเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ ไม่ได้ให้ผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวเลยสักอย่าง ยิ่งถ้าติดเข้าให้แล้ว มีแต่โรคภัยไข้เจ็บถามหา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต ทางอ้อม ซึ่งการติดบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอด และอีกสารพัดมะเร็งได้มากกว่าคนที่ไม่สูบ
การดื่มเหล้า ทำมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งตับ ตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง และอีกสารพัดโรค ได้มากกว่าคนที่ไม่ดื่มเช่นกัน ดังนั้น ถ้าลดได้ละได้ก็จะดีต่อสุขภาพขึ้นทีละนิด หากเลิกขาดไปได้เลย โอกาสที่จะเป็นโรคร้ายเหล่านี้ก็จะลดลงตามไปด้วย