“โดพามีน-ออกซิโทซิน” ตัวการสำคัญทำคนติดโซเชียล
โซเชียลมีเดียมีความสำคัญกับผู้คนมากน้อยแค่ไหนคงไม่ต้องวัดจากอื่นไกล เมื่อโทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว โดยผลสำรวจจากเว็บไซต์ดัง Statista.com เฉพาะในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้ใช้มือถือเพื่อเข้าอินเทอร์เน็ตในปี 2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 52.71 ล้านคน และคาดว่าในปี 2568 จะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพื่อเข้าโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นเป็น 61.76 ล้านคนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าเหตุผลที่ทำให้คนชอบไลก์ ชอบคอมเมนต์ และแชร์เรื่องราวต่างๆ มีความเชื่อมโยงกับเรื่องจิตวิทยา เมื่อมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ Rameet Chawla ได้เขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อให้กดไลก์ทุกโพสต์ในอินสตาแกรม (IG) ของคนอื่นที่โชว์ในหน้าฟีดของเขา และพบกับผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงหลายประการ
โดยหลังจากผ่านไป 3 เดือน ปรากฏว่าเขามียอดฟอลโลว์หรือคนติดตามต่อวันมากกว่า 30 คน รวมแล้วกว่า 2,700 คน เมื่อไปเดินข้างนอกก็มีผู้คนมาทักทายเขาเพราะจำหน้าเขาได้จากใน IG และยังขอให้เขากดไลก์ต่อไปด้วย ขณะที่บางคนเชิญให้เขาไปร่วมงานปาร์ตี้สังสรรค์ และบางคนส่งข้อความมาบอกให้เขาโพสต์อะไรให้มากกว่านี้ จะได้ไปกดไลก์ให้บ้างเป็นการตอบแทน
ทุกวันนี้ การกดไลก์ คอมเมนต์ หรือแชร์ข้อความต่างๆ ในโลกโซเชียล จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทางจิตใจ และคนในสังคมให้คุณค่า เมื่อทุกการแสดงออกบนโลกโซเชียลสามารถเข้าถึงความรู้สึกของผู้คนได้ และทำให้เรารู้สึกเสพติด มีความปรารถนาที่อยากจะเห็นยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือยอดคอมเมนต์ที่มากขึ้น และจะเป็นกังวลทุกครั้งเมื่อรูปหรือข้อความที่โพสต์ไปนั้นไม่ได้รับความสนใจ
สารเคมีในสมอง ตัวแปรสำคัญติดโซเชียล
รู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมที่ทำให้เราเสพติดโซเชียลมีเดียนั้น มีผลมาจากสารเคมีในสมองที่ชื่อ “โดพามีน” และ “ออกซิโทซิน” ซึ่งสองตัวนี้ถือเป็นฮอร์โมนที่สมองหลั่งออกมา และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมในการแสดงออกของเราได้โดยไม่รู้ตัว
โดพามีน
โดพามีน (Dopamine) คือฮอร์โมนที่หลั่งมาจากสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า “ไฮโปทาลามัส” (Hypothalamus) ซึ่งเมื่อถูกหลั่งออกมาแล้วจะส่งผลต่ออารมณ์ และมักถูกเรียกว่าเป็น “ฮอร์โมนแห่งความรัก” เพราะเมื่อสารโดพามีนหลั่งออกมาจะทำให้รู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่พึงพอใจ มีความยินดี ความรัก และความรู้สึกดีๆ ที่เพิ่มมากขึ้น
การหลั่งของโดพามีนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้น เช่น การแจ้งเตือนของข้อความที่เด้งเข้ามาว่ามีคนเข้ามากดไลก์ แสดงความคิดเห็น หรือแชร์โพสต์ ซึ่งเปรียบได้กับการให้รางวัลเจ้าของโพสต์ จึงทำให้เกิดความพึงพอใจ และเมื่อได้รับการกระตุ้นก็จะยิ่งปล่อยออกมาในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้เกิดอาการเสพติด ซึ่งจากการทดลองของทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ในสหรัฐอเมริกา พบว่าอิทธิพลของโดพามีนทำให้เราติดโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นที่ไม่อาจปฏิเสธความต้องการของตัวเองได้ ยิ่งกว่าคนที่ชอบดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่เสียอีก เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่คาดหวังไว้ทั้งที่เคยได้รับการตอบสนองในเชิงบวกมาก่อน จึงเกิดอารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจ
ออกซิโทซิน
ออกซิโทซิน (Oxytocin) คือฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมอง ที่ถูกเรียกว่า “ฮอร์โมนแห่งความรัก” ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อสารออกซิโทซินหลั่งออกมาจะทำให้เกิดความรู้สึกรักและผูกพันกับผู้อื่น ซึ่งมักจะหลั่งออกมาเมื่อได้สัมผัสร่างกายกับผู้อื่นด้วยการจูบหรือกอด โดยสมองของคนเราสามารถหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินได้สูงกว่าปกติถึง 13 เปอร์เซ็นต์ เพียงแค่ใช้เวลาในการท่องโลกโซเชียล 10 นาที ซึ่งเทียบเท่าได้กับระดับฮอร์โมนของบ่าวสาวที่กำลังเข้าพิธีแต่งงานเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในเชิงบวกขณะที่ท่องโลกโซเชียล สมองจะหลั่งสารออกซิโทซินออกมามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ลดระดับความเครียดหรือความกังวลลงได้ อีกทั้งเกิดความรู้สึกรัก ไว้วางใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นด้วย แม้ว่าจะไม่ได้พูดคุยสื่อสารกันแบบเห็นหน้าหรือสัมผัสตัวกันก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ฮอร์โมนทั้งสองตัวจึงทำให้ผู้คนเสพติดโซเชียลได้ง่ายดาย แม้ว่าบางคนจะไม่ได้รู้จักกันในชีวิตจริงก็ตาม แต่มีผลสำรวจชี้ชัดว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะผู้เล่นเฟซบุ๊ก มีถึง 43 เปอร์เซ็นต์ที่รู้ว่าคนส่วนใหญ่ในโลกโซเชียลสามารถเชื่อถือหรือไว้วางใจได้
ทำไมเราชอบโพสต์
ปกติแล้วคนเรามักชอบพูดเรื่องของตนเอง โดยพบว่ามีราว 30-40 เปอร์เซนต์เลยทีเดียวที่ชอบแสดงความคิดเห็นของตัวเองในบทสนทนาทุกครั้ง แต่สำหรับคนที่ใช้โซเชียลมีเดียนั้นมีสถิติที่น่าทึ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้คนชอบพูดและแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์!
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในการสนทนาแบบเห็นหน้ากันนั้น มีปัจจัยเรื่องของการควบคุมอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และในบางครั้งเราอาจไม่มีเวลาที่จะคิดคำตอบได้ทัน ขณะเดียวกัน ก็ต้องคอยสบตาคู่สนทนา และคอยอ่านภาษากายของอีกฝ่ายด้ายว่าสนใจในสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่หรือไม่
แต่ในโลกโซเชียล ทุกคนสามารถปรับแต่ง และมีเวลาที่จะประดิษฐ์คำพูดของตนเองได้ ซึ่งแต่ละคนจะพยายามนำเสนอตนเองในด้านที่อยากให้คนอื่นเห็น และอยากให้คิดว่าเป็นคนแบบนั้น สังเกตได้ง่ายๆ จากรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กของแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างตัวตนให้ดูดี เพื่อเพิ่มความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
ทำไมเราชอบแชร์
เหตุผลที่เราชอบแชร์เพราะเราต้องการแสดงตัวตนของตนเอง และต้องการแสดงความสัมพันธ์แบบสนิทสนม จากผลสำรวจพบว่า กว่า 68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่แชร์ข้อความหรือข่าวสาร เพราะต้องการบอกคนอื่นว่าพวกเขาคิดอย่างไร พวกเขาเป็นคนอย่างไร และเรื่องใดที่พวกเขากำลังสนใจอยู่ในเวลานี้ แต่เหตุผลสำคัญที่สุด กลับพบว่า 78 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เลือกแชร์โพสต์ เป็นเพราะพวกเขาต้องการติดต่อกับผู้คนในโซเชียลมีเดีย
ทำไมเราชอบกดไลก์
จากผลสำรวจของการใช้เฟซบุ๊กที่มีผู้ใช้กว่า 2 พันล้านรายนั้นพบว่า มีคนกดไลก์มากกว่า 1.13 ล้านล้านครั้ง ซึ่งเหตุที่ทำให้เรากดไลก์โพสต์ของคนอื่นนั้น เป็นเพราะต้องการให้คุณค่ากับคนที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยบนโลกโซเชียล นอกจากนี้ ก็ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ “ต่างตอบแทน” ซึ่งกันและกันด้วย เมื่อไปกดไลก์ให้คนอื่น ก็ได้รับการกดไลก์กลับมา ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันนั่นเอง
ทำไมเราชอบคอมเมนต์
คำตอบของเรื่องนี้คือการนำทุกข้อมารวมกัน เมื่อเรามีกลุ่มในโลกโซเชียลของเราเอง จึงทำให้เกิดความรู้สึกสบายใจที่จะได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันการที่ไม่ต้องแสดงตัวตนเหมือนอย่างเช่นในโลกของความเป็นจริง ความรู้สึกอยากที่จะแสดงความคิดเห็นจึงมีมากขึ้น และท้ายที่สุดก็จะทำให้หลายคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่อง และแสดงตัวตนของตนเองออกมา ยิ่งถ้ามีใครมากดไลก์ กดแชร์ คอมเมนต์ในโพสต์ของเรา ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าการแสดงความคิดเห็นของตนเองนั้นมีคุณค่า และเสพติดความรู้สึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ