ผลสำรวจชี้ 10 อาหารแช่แข็ง “โซเดียม” สูงที่สุด เกินเยอะเสี่ยงโรคไต
ผลการสำรวจจากนิตยสารฉลาดซื้อ จากอาหารแช่แข็งในไทยกว่า 53 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมในหลายผลิตภัณฑ์มีปริมาณโซเดียมสูง หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ประชาชนชาวไทยรับโซเดียมรายวันสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เสี่ยงโรคไตและโรคอันตรายอื่นๆ ตามมาได้ แนะอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อบริโภค
สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็นแช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย
ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม
- กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม
- กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230 มิลลิกรัม
คนไทยเสี่ยงบริโภคโซเดียมต่อวันมากเกินไป เสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม
จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3,316 มก./วัน ตามลำดับ
ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่างๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่างๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 และอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น
10 อาหารแช่แข็ง “โซเดียม” สูงที่สุด (กลุ่มอาหารจานด่วน)
- ข้าวคลุกน้ำพริกกะผิปลาทู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,390 มิลลิกรัม
- ผัดไทยกุ้งสด ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,360 มิลลิกรัม
- ผัดไทยกุ้งสด ของ มาย ช้อยส์ ปริมาณโซเดียม 1,310 มิลลิกรัม
- ยากิโซบะหมู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,290 มิลลิกรัม
- ข้าวผัดคะน้าปลาเค็ม ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,280 มิลลิกรัม
- ข้าวผัดกะเพราขี้เมาไก่ ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,200 มิลลิกรัม
- ข้าวผัดปู ของ เดลี่ไทย ปริมาณโซเดียม 1,200 มิลลิกรัม
- ข้าวผัดกุ้ง ของ เดลี่ไทย ปริมาณโซเดียม 1,100 มิลลิกรัม
- ข้าวผัดปู ของ KING CHEF ปริมาณโซเดียม 1,100 มิลลิกรัม
- ข้าวผัดปู ของ Family Mart ปริมาณโซเดียม 1,050 มิลลิกรัม
10 อาหารแช่แข็ง “โซเดียม” สูงที่สุด (กลุ่มอาหารอ่อน)
- ข้าวต้มหมู ของ Family Mart ปริมาณโซเดียม 1,340 มิลลิกรัม
- เกี๊ยวกุ้ง ของ ซีพี ปริมาณโซเดียม 1,160 มิลลิกรัม
- เกี๊ยวกุ้ง ของ บิ๊กมีล ปริมาณโซเดียม 1,130 มิลลิกรัม
- เกี๊ยวน้ำหมู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,120 มิลลิกรัม
- เกี๊ยวน้ำกุ้ง ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,020 มิลลิกรัม
- ข้าวต้มหมูสับ ของ ท็อปส์ ปริมาณโซเดียม 990 มิลลิกรัม
- เกี๊ยวน้ำหมู ของ บิ๊กมีล ปริมาณโซเดียม 940 มิลลิกรัม
- ข้าวต้มปลากะพง ของ ท็อปส์ ปริมาณโซเดียม 920 มิลลิกรัม
- ข้าวต้มหมู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 840 มิลลิกรัม
- โจ๊กหมูทรงเครื่อง ของ KING CHEF ปริมาณโซเดียม 790 มิลลิกรัม
การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี
ปัจจุบันยังแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว