"ริดสีดวงทวารหนัก" สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาที่ถูกต้อง
-
อาการของริดสีดวงทวารหนักและเนื้องอก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มีความคล้ายคลึงกัน การมาพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจนจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม
-
หากมีอาการ ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ มีภาวะซีด ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก รู้สึกปวดในรูทวารหนักตลอดเวลา ท้องผูก สลับท้องเสีย ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง น้ำหนักลดลง มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างถูกต้อง
-
การรักษาริดสีดวงทวารหนักมีทั้งการผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยแพทย์จะเป็นผู้ที่เลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุด
ริดสีดวงทวารหนัก เป็นโรคที่พบบ่อยในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีความเข้าใจลักษณะของโรคที่คลาดเคลื่อนอยู่มาก การถ่ายอุจจาระเป็นเลือดไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเฉพาะโรคริดสีดวงทวารหนักอย่างเดียว แต่อาจจะมีติ่งเนื้อในลำไส้ หรือเนื้องอกลำไส้ใหญ่ซ่อนอยู่ได้
ริดสีดวงทวารหนัก คืออะไร?
นพ. พรเทพ ประทานวณิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า โดยปกติแล้วบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนักจะมีเส้นเลือดและหลอดเลือดขนาดเล็กอยู่ เมื่อเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการบวมและหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักด้วย จะก่อให้เกิดเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักขึ้น ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันหลายอันและหลายตำแหน่ง โดยริดสีดวงทวารหนักแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1. ริดสีดวงทวารภายใน
จะเกิดขึ้นภายในทวารหนัก โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และไม่สามารถคลำได้ จะตรวจพบต่อเมื่อส่องกล้องเท่านั้น ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ ตามขนาดจากเล็กไปใหญ่
ระยะที่ 1 ขนาดเล็ก อยู่ข้างในรูทวาร ไม่ยื่นออกมา อาจมีเลือดสดๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโตขึ้นโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายและหดกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระเสร็จ จะมีเลือดออกได้บ่อยขึ้น ลักษณะเป็นสีแดงสด
ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงขนาดใหญ่ และโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไม่สามารถกลับเข้าไปเองได้ ต้องใช้มือดันเข้าไป จะมีเลือดออกบ่อยๆ และ มีอาการระคายเคืองมากขึ้น
ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงโตมาก โผล่ออกมาด้านนอกไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจรู้สึกปวดและรบกวนชีวิตประจำวัน
2. ริดสีดวงทวารภายนอก
จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นรอบทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ เวลาอักเสบจะมีอาการเจ็บปวด
ทั้งนี้ ในผู้ป่วยบางราย อาจมีทั้งริดสีดวงภายในและภายนอกอักเสบในเวลาเดียวกัน
เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
เนื่องจากอาการของริดสีดวงทวารหนักและเนื้องอก / มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มีความคล้ายคลึงกัน เพราะฉะนั้น ควรรีบมาพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจนและนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม เพราะในปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถเกิดขึ้นกับผู้ป่วยอายุน้อยได้ ไม่เฉพาะแต่กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการเหล่านี้
- ถ่ายมีมูกขาวๆ ปนกับเลือดสีคล้ำๆ
- มีภาวะซีดร่วมด้วย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก
- รู้สึกปวดในรูทวารหนักตลอดเวลา
- มีอาการท้องผูก สลับท้องเสีย
- ขนาดของอุจจาระเล็กลงอย่างต่อเนื่อง
- น้ำหนักลดลง
- มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว
สาเหตุที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก
- ท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็ง เวลาถ่ายต้องเบ่งมาก เป็นประจำ
- รีบเร่ง พยายามเบ่งถ่ายแรงๆ ให้หมดเร็วๆ
- รับประทานผักผลไม้น้อย รับประทานแต่เนื้อสัตว์ อุจจาระจะจับเป็นก้อนแข็ง ทำให้ถ่ายลำบาก
- ดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแห้งแข็ง
- นั่งในห้องน้ำนานเกิน อ่านหนังสือ หรือดูมือถือเพลิน จะทำให้หัวริดสีดวงพองขยายตัวมากขึ้น
- การตั้งครรภ์ มดลูกที่โตขึ้นจะทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานไม่สะดวก ริดสีดวงจะขยายตัวมากขึ้น (แนะนำให้มาพบแพทย์รักษาริดสีดวงทวารก่อนการตั้งครรภ์)
- อายุที่มากขึ้น ทำให้มีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนักมากขึ้น และริดสีดวงทวารหนักอักเสบง่ายขึ้น
เทคนิคการป้องกัน
- ขับถ่ายเป็นเวลา และ ไม่นั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน
- รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มกากใยในอาหาร กระตุ้นการขับถ่ายให้ง่ายขึ้น อุจจาระไม่เป็นก้อนแข็ง
- ดื่มน้ำให้มาก สม่ำเสมอ อุจจาระจะไม่แห้งแข็ง ขับถ่ายได้ง่าย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น ขับถ่ายได้คล่องขึ้น
เทคนิคการรักษาริดสีดวงทวารหนักที่เป็นมาตรฐาน
วิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ใช้รักษาริดสีดวงทวารหนักใน ระยะที่ 1 และ 2 คือขนาดไม่ใหญ่มาก มีหลายวิธี ดังนี้
- การเหน็บยา โดยแพทย์จะสั่งยาเหน็บรักษาริดสีดวงภายในที่ช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้น (การเหน็บยาไม่ช่วยในการรักษาริดสีดวงภายนอก)
- การฉีดยา เข้าไปในตำแหน่งที่กำหนดใต้ชั้นผิวหนังที่มีขั้วริดสีดวงเพื่อให้หัวริดสีดวงยุบลง โดยจะมีการฉีดซ้ำทุก 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
- การใช้ยางรัด (Rubber band ligation) บริเวณหัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาเพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออก วิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจเกิดการติดเชื้อและผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้ ไม่ควรใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เพราะจะทำให้มีเลือดออกมากหรือเลือดไหลไม่หยุด
2. การรักษาโดยการผ่าตัด เหมาะกับริดสีดวงภายนอกที่มีการอักเสบ และ ริดสีดวงภายใน ระยะที่ 3 และ 4
- การผ่าตัดแบบมาตรฐานปกติ เป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อริดสีดวงที่โตและก่อปัญหาออกมา และรวบตัดไปถึงขั้วเส้นเลือดที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงนั้นๆ โดยไม่ทำอันตรายกับหูรูดทวารหนัก ผู้ป่วยสามารถควบคุมการถ่ายอุจจาระได้เป็นปกติหลังผ่าตัด ซึ่งได้ผลที่ดีระยะยาวกว่าวิธีอื่นๆ มีโอกาสเป็นซ้ำใหม่น้อยที่สุด หากทำการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่หรือริดสีดวงภายในหย่อนออกจากลำไส้ตรง ซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้โดยไม่ต้องฉีดยาชาบล็อกหลัง แต่จะฉีดยาเข้าเส้นเลือดให้ผู้ป่วยหลับ และ ฉีดยาชาเฉพาะที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่เจ็บขณะผ่าตัด และใช้ไหมละลายในการเย็บ ทำให้ไม่ต้องมาทำแผลและไม่ต้องตัดไหม นอกจากนั้น ผู้ป่วยไม่ต้องนั่งแช่ก้น หรือ นั่งห่วงยางเหมือนในอดีต
- การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (PPH stapler) เหมาะกับริดสีดวงทวารหนักภายในเท่านั้นและต้องไม่ใหญ่เกินไป เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีริดสีดวงทั้งภายในและนอกร่วมกัน จึงมีข้อบ่งชี้น้อยในการใช้เครื่องมือนี้ แพทย์จะต้องใช้เครื่องมือตัดเย็บริดสีดวงภายในอย่างระมัดระวัง เพราะถ้าตัดต่ำเกินไป และ ตัดถูกผิวหนังด้านนอกด้วย จะทำให้เจ็บมาก และในระยะยาวอาจจะมีปัญหารูทวารตีบตันได้ เพราะมีตะเข็บโลหะเป็นวงแหวนฝังตัวอยู่ถาวร
- การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์ เหมาะกับริดสีดวงในระยะที่ยังไม่รุนแรงและหัวไม่ใหญ่นัก โดยจะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดบริเวณหัวริดสีดวงให้ค่อยๆ ฝ่อลง ได้ผลดีพอสมควร มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเครื่องเลเซอร์ แต่ในระยะยาวมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้มาก คล้ายการรักษาด้วยการฉีดยาซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมแพร่หลาย
- การผ่าตัดแบบ Doppler guided hemorrhoid artery ligation with recto-anal repair รักษาได้เฉพาะริดสีดวงภายในขนาดเล็ก เป็นการใช้เครื่องมืออัลตร้าซาวด์ตรวจหาขั้วเส้นเลือดแดงที่เข้ามาเลี้ยงหัวริดสีดวงทวารหนักแต่ละอัน แล้วเย็บรวบผูกขั้วเส้นเลือดนั้นๆ โดยไม่ได้ตัดเอาหัวริดสีดวงที่อักเสบออกไป เพื่อหวังว่าหัวริดสีดวงจะฝ่อไป จึงเหมาะกับริดสีดวงทวารหนักขนาดเล็กเท่านั้น และในระยะยาวมีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า เนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวงทวารหนักมีหลายเส้น หรือเมื่อเย็บผูกแล้ว ร่างกายก็สามารถมีเส้นเลือดแขนงใหม่งอกมาเลี้ยงหัวริดสีดวงที่ไม่ได้ตัดออก จึงมีโอกาสที่จะบวมอักเสบได้อีก
หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้น และ อาการไม่ดีขึ้น หรือ แย่ลง แนะนำว่าอย่าชะล่าใจ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรคร้ายแรงออกไปตั้งแต่เริ่มต้น ส่งผลให้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที