จำเป็นต้อง “ดีท็อกซ์” มากแค่ไหน?
เราคงได้ยินคำว่า “ดีท็อกซ์” (Detox) กันมานานแล้ว หลายคนเชื่อว่าเป็นการชะล้างเอาของเสียที่ไม่ดีต่อร่างกายออกไป จึงมีกระแสกินน้ำนู่นนี่ หรือวิธีดีท็อกซ์กันออกมามากมาย แต่จริงๆ แล้วการดีท็อกซ์ดีต่อร่างกายจริงหรือไม่ แล้วถ้าไม่ทำจะเป็นอะไรหรือเปล่า
ดีท็อกซ์ คืออะไร?
การดีท็อกซ์ (Detox) ย่อมาจากคำว่า Detoxification ซึ่งหมายถึง การขับของเสียออกจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสารพิษ โลหะหนัก สิ่งตกค้างในร่างกาย รวมถึงเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ปกติร่างกายเราก็จะมีการขับของเสียเหล่านี้อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งในรูปก๊าซ ของเหลว และของแข็ง โดยของเสียที่เป็นก๊าซ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะขับออกทางจมูกตอนเราหายใจออก ส่วนของเหลวนั้นมักขับออกมาทางผิวหนังและทางเดินปัสสาวะ โดยการกำจัดของน้ำและเกลือแร่ส่วนเกินผ่านทางผิวหนังออกมาในรูปของเหงื่อ ถ้าเป็นของเหลวที่ผ่านการกรองจากไตก็จะขับออกมาในรูปของปัสสาวะ ส่วนของเสียที่เป็นของแข็งที่ผ่านการดูดซึมจากลำไส้ไปแล้วก็จะขับออกมาในรูปของอุจจาระ เป็นต้น
จำเป็นต้อง “ดีท็อกซ์” มากแค่ไหน?
พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จาก Addlife Check-Up Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ว่าร่างกายเราจะมีการกำจัดของเสียเป็นประจำ แต่ก็จะมีของเสียบางส่วนที่สะสมและคงค้างในร่างกายเราอยู่ เช่น ในลำไส้ หลอดเลือด ตับ เป็นต้น เมื่อนานวันเข้าก็เกิดความเป็นพิษจนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเราได้ โดยร่างกายอาจจะแสดงออกมาในรูปของการอ่อนเพลีย ความจำแย่ลง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ภูมิต้านทานต่ำ จนในที่สุดอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมอง โรคสมองเสื่อม และร้ายแรงที่สุดคือโรคมะเร็งนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของ รองศาสตราจารย์นายแพทย์สถาพร มานัสสถิตย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า การทำดีท็อกซ์ หากจำเป็นต้องทำจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยแพทย์จะเป็นผู้ตรวจและวินิจฉัยว่าเห็นสมควร หากปกติหรือมีอาการปวดท้องหรือป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่แนะนำให้ทำเพราะไม่มีประโยชน์ ถือเป็นการทำระยะสั้นๆ ซึ่งถ้าทำแล้วก็จะต้องทำบ่อยๆ และจะต้องทำไปตลอดเมื่อมีอาการ และการทำดีท็อกซ์เป็นกรรมวิธีทางการแพทย์ จะต้องทำโดยแพทย์หรือพยาบาลเท่านั้น
วิธีดีท็อกซ์ มีอะไรบ้าง?
พญ.กฤดากร ระบุว่า การดีท็อกซ์ที่นิยมใช้กันมี 3 วิธี ได้แก่ ทางการรับประทาน ทางหลอดเลือด ทางทวารหนัก
โดยเราจะให้สารที่มีคุณสมบัติในการจับกับสารพิษและโลหะหนักเข้าไป เช่น EDTA หรือ DMSAจากนั้นร่างกายก็จะขับออกมาทางช่องทางต่างๆ เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น เมื่อร่างกายได้รับการดีท็อกซ์ หรือกำจัดสารพิษก็จะก่อให้เกิดผลดีในหลายแง่ด้วยกัน ได้แก่
- ช่วยลดสารอนุมูลอิสระ
- ลดการอักเสบบริเวณต่างๆ ของร่างกาย
- ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวและยืดหยุ่นได้ดียิ่งขึ้น
- ลดความเสี่ยงของการเกิดสภาวะหัวใจล้มเหลว โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง
นอกจากการดีท็อกซ์แล้วยังมีอีกวิธีที่เรียกว่า การสวนล้างลำไส้ใหญ่ (Colon Hydrotherapy) ซึ่งก็นับเป็นการกำจัดของเสียออกจากร่างกายในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยการที่ใช้อุปกรณ์พิเศษในการปั๊มน้ำอุ่นบริสุทธิ์ที่ควบคุมความดันเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ของคุณเพื่อกำจัดแบคทีเรียและยีสต์ที่ไม่ดีสารพิษไบโอฟิล์มและของเสียออกจากลำไส้ของคุณ โดยการสวนล้างที่ดีควรเป็นแบบ "ระบบปิด" หมายความว่าอุจจาระผ่านจากลำไส้ใหญ่ของคุณโดยตรงผ่านท่อที่ผ่านการฆ่าเชื้อไปยังระบบบำบัดน้ำเสีย โดยไม่ปนเปื้อนหรือสัมผัสกับอากาศภายนอก
ทำไมต้องสวนล้างลำไส้?
พญ.กฤดากร อธิบายว่า นอกจากลำไส้จะประกอบไปด้วยกากอาหารที่ผ่านการดูดซึมแล้ว ยังเป็นแหล่งสะสมของเสียต่างๆ รวมถึงเชื้อจุลินทรีย์ทั้งที่มีประโยชน์และมีโทษที่ตกค้างในลำไส้ของเรา แบคทีเรียที่ไม่ดีนั้นถ้าเกิดมีมากเกินไปจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า เยื่อบุผนังลำไส้รั่วซึม (Leaky Gut) ซึ่งจะเกี่ยวข้องการเพิ่มการอักเสบ ภูมิคุ้มกันต่ำ โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ลำไส้อักเสบ ท้องอืด ท้องผูกได้ ดังนั้น เราจึงควรมีการสวนล้างลำไส้เพื่อกำจัดของเสียและจุลินทรีย์ที่ไม่ดีออกไป นอกจากนี้ควรมีการเติมเชื้อจุลินทรีย์ที่ดี (Probiotics) เข้าไป เพื่อปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง ลดภาวะต่างๆที่เกิดจากเยื่อบุผนังลำไส้รั่วซึม
อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์นายแพทย์สถาพร ระบุว่า ในทางการแพทย์นั้นมีการสวนล้างลำไส้จริง แต่จะไม่มีการทำกับคนปกติทั่วๆ ไป คนที่ท้องผูกเล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่จะใช้ยาระบายจะไม่ใช้การสวน คนที่ท้องผูกอย่างมากอุจจาระไม่ออก ทางการแพทย์ก็จะทำการสวนล้างลำไส้ หรือในกรณีที่คนไข้จะต้องเอกซเรย์ ไม่ต้องการให้อุจจาระในลำไส้บดบังส่วนที่จะทำเอกซเรย์ จึงต้องสวนเอาอุจจาระออก เพราะฉะนั้น การล้างลำไส้ก็เป็นการเอาอุจจาระออกให้เร็วขึ้นเท่านั้นเอง นอกจากนี้ ยังมีกรณีคนไข้ที่มีลำไส้อุดตัน อุจจาระไม่ออก แพทย์ก็จะล้างออกเพื่อให้คนไข้มีอาการดีขึ้น หรือคนไข้ที่เตรียมผ่าตัด เป็นต้น ในทางการแพทย์จะต้องมีข้อบ่งชี้ในการสวนล้างลำไส้ โดยจะไม่ทำอย่างพร่ำเพรื่อ
เมื่อไร ถึงควรทำดีท็อกซ์?
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเข้าข่ายเยื่อบุผนังลำไส้รั่วซึม หรือควรได้รับการสวนล้างลำไส้ หรือไม่ พญ.กฤดากร แนะนำว่า เราอาจสังเกตตัวเองได้ง่ายๆ ว่าเรามีอาการหรือภาวะเหล่านี้หรือไม่
- มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย แสบร้อนอก กรดไหลย้อน
- สิว ผื่นที่ผิวหนัง
- แพ้อาหาร
- ไมเกรน
- อ้วน
- ปวดข้อ
- โรคไซนัสอักเสบ
- ติดเชื้อบ่อย
- วิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า
ถ้าคุณเข้าข่ายสิ่งที่กล่าวมาเช่นนี้ อย่าลังเลที่จะเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด และหาวิธีรักษาให้ตรงจุดต่อไป
ไม่ทำดีท็อกซ์ได้ไหม? ร่างกายจะเป็นอันตรายอะไรหรือเปล่า?
รองศาสตราจารย์นายแพทย์สถาพร ระบุว่า การที่จะให้ขับถ่ายออกมานั้น นอกจากการทำดีท็อกซ์แล้ว อาหารที่เรารับประทานทุกวันก็มีผลเหมือนกัน อย่างเช่น อาหารพวกชีวจิต ที่เชื่อว่าทำให้ร่างกายขับถ่ายได้ดีขึ้น หรืออาหารจำพวกที่เผาผลาญพลังงานได้ดีและจำพวกผักต่างๆ ที่ช่วยดูดซับสารพิษเหล่านี้ เป็นต้น แต่ว่าหลักการต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นความเชื่อทั้งสิ้น แต่หลักการทางการแพทย์เชื่อว่าการรับประทานอาหารให้ครบหมู่ จะทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์มากกว่าที่จะมุ่งเน้นในด้านใดด้านหนึ่ง เพราะจะทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ หรือวิธีการง่ายๆ คือเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ในปัจจุบันหลายๆ แห่งใช้วิธีสวนล้างลำไส้ จะมุ่งเน้นไปทางการค้าค่อนข้างมาก และอาจมีการชักชวนที่มากกว่าความเป็นจริง หากเป็นเช่นนั้น เราควรใช้วิจารณญาณไตร่ตรองดูว่าการทำเหล่านี้มีประโยชน์และเป็นจริงตามคำโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ การทำต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ไม่แนะนำให้ทำ ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรทำเป็นครั้งคราวมากกว่า