เด็ก "ซน" แบบไหน เข้าข่าย "สมาธิสั้น"

เด็ก "ซน" แบบไหน เข้าข่าย "สมาธิสั้น"

เด็ก "ซน" แบบไหน เข้าข่าย "สมาธิสั้น"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ปกครอง สังเกตลูกน้อย หากพบอาการขาดสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ซุกซนมากกว่าเด็กปกติ พูดจาไม่หยุด และหุนหัน พลันแล่น อาจเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

โรคสมาธิสั้น คืออะไร?

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคสมาธิสั้น (Attention-deficit hyperactivity disorder;ADHD) พบได้ตั้งแต่เด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไป และพบได้มากถึงร้อยละ 5 ในเด็กวัยเรียน

สาเหตุโรคสมาธิสั้น

สำหรับสาเหตุของโรคสมาธิสั้นเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันโดยมีปัจจัยหลัก คือ

  1. ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ปัจจัยทางด้านระบบประสาท ซึ่งเกิดจากสารในสมองส่วนหน้า คือ โดพามีน(Dopamine) และ นอร์เอพิเนฟริน(Norepinephrine) ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมและสมาธิมีการทำงานที่ลดลง การดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ของแม่ขณะตั้งครรภ์ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ
  2. ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ซึ่งทำให้เด็กมีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นมากขึ้น โดยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ขาดระเบียบวินัย นอนดึก นอนน้อย และมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และโทรทัศน์เป็นเวลานาน จะทำให้เด็กขาดทักษะสังคมและการสื่อสาร รวมถึงอาจมีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงที่เกิดจากการเลียนแบบสิ่งที่ดูจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์

อาการของโรคสมาธิสั้น

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการสังเกตอาการของลูกให้ดูอาการหลัก 2 ด้านคือ

  1. ขาดสมาธิ มีสมาธิสั้น ขี้ลืม ทำงานไม่สำเร็จ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า (ไม่รวมถึงการดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์)
  2. มีพฤติกรรมซุกซน นั่งไม่ติดที่ พูดมากหรือพูดโพล่ง และขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ซึ่งเด็กบางคนอาจมีอาการเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีทั้ง 2 กลุ่มอาการร่วมกันก็ได้ 

การรักษาโรคสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นจะประกอบด้วยการปรับพฤติกรรมโดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ มีการสอนให้เด็กรู้จักการอดทนและรอคอย มีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ลดการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องใช้เวลานานและต้องทำอย่างสม่ำเสมอโดยมีแพทย์คอยให้คำปรึกษาในแต่ละขั้นตอน ผู้ป่วยในบางรายอาจมีการรักษาด้วยยารับประทานควบคู่กับการปรับพฤติกรรม (ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์)   

ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกต และติดตามอาการลูกอย่างใกล้ชิด หากพบอาการดังกล่าว สามารถพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และกุมารแพทย์ทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเพื่อทำการรักษาต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook