"น้ำแร่" ดื่มมากๆ อันตราย เป็น "นิ่ว" จริงหรือไม่?
“น้ำแร่” เป็นตัวเลือกหนึ่งของคนที่รักสุขภาพ แต่มีอีกกระแสหนึ่งที่บอกว่า การดื่มน้ำแร่นานๆ อาจอันตรายต่อร่างกาย หรือทำให้เป็น “นิ่ว” ได้ จริงหรือไม่
“น้ำแร่” ดื่มมากๆ อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?
ผศ.ดร. วันทนีย์ เกรียงสินยศ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า น้ำแร่ เป็นน้ำที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ในทางกฎหมายจะมีการกำหนดปริมาณสารบางอย่างที่เกิดเป็นอันตรายอยู่แล้ว ในส่วนของน้ำแร่ จะมีปริมาณของแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะเป็นแคลเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น หากร่างกายได้รับแร่ธาตุเหล่านี้มากเกินไป จะมีการขับออกได้เอง ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารอาหารต่างๆ ที่กินเข้าไปร่วมกันด้วย
“น้ำแร่” ดื่มมากๆ เสี่ยงโรค “นิ่ว” หรือไม่?
อาจารย์ แพทย์หญิง ปีณิดา สกุลรัตนศักดิ์ แพทย์สาขาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ระบุว่า การดื่มน้ำแร่ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วมากยิ่งขึ้นแต่อย่างใด สามารถดื่มได้ตามปกติ นอกจากนี้เกลือแร่บางตัวมีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดนิ่วขึ้นได้อีกด้วย
ทางด้าน ผศ.ดร. วันทนีย์ เห็นตรงกันว่า ในงานวิจัยบางชิ้นพบว่า น้ำแร่บางอย่างช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วด้วยซ้ำไป โดยสาเหตุของนิ่ว เกิดจากการดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นมากขึ้น
น้ำแร่ ไม่ได้เหมาะกับทุกคน
แม้ว่าน้ำแร่จะไม่ได้มีอันตรายต่อร่างกาย หรือก่อให้เกิดเป็นโรคนิ่วอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ แต่น้ำแร่ที่มีแร่ธาตุหลายชนิดอยู่นั้น ก็ไม่ได้เหมาะกับสุขภาพของ “ทุกคน” เสมอไป
อาจารย์ แพทย์หญิง ปีณิดา ให้ข้อมูลว่า ในบางกลุ่มคนก็ไม่แนะนำให้ได้รับแร่ธาตุบางประเภทมากนัก เช่น ผู้ป่วยโรคไต ที่ไตมีความสามารถในการกำจัดเกลือแร่ส่วนเกินไปออกไปจากร่างกายได้ไม่เต็มที่ หรือมีความปกติในการทำงาน เช่น การกำจัดโพแทสเซียม และโซเดียม
น้ำแร่ ดีกว่าน้ำเปล่า?
จริงๆ แล้วหากไม่อยากเป็นนิ่ว ดื่มแค่น้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่เสมอไป เพราะน้ำแร่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่ว แต่ก็ไม่ได้เพิ่มการป้องกันในการเป็นโรคนิ่วด้วยเช่นกัน และในน้ำแร่ที่ไม่สามารถปริมาณของแร่ธาตุแต่ละชนิดที่แน่นอน ก็ไม่แนะนำให้ดื่มเยอะๆ หรือนานๆ แต่สามารถดื่มในปริมาณปกติได้ ไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย
น้ำแร่ มีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่?
จริงๆ แล้วแร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในน้ำแร่ สามารถหารับประทานได้จากอาหารทั่วไปที่เรารับประทานกันอยู่แล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นจะต้องดื่มน้ำแร่เพื่อให้ได้แร่ธาตุให้มากขึ้น หรือเพื่อให้มีสุขภาพดีกว่าปกติแต่อย่างใด การดื่มน้ำแร่ในแต่ละวันไม่ได้เพิ่มปริมาณแร่ธาตุในร่างกายจนเกินความต้องการของร่างกาย ไม่ได้เกิดผลเสีย แต่ก็ไม่ได้เกิดผลดีอย่างชัดเจนเช่นกัน