9 อาหารที่คนญี่ปุ่นแนะ กินบ่อย ทำลายสุขภาพ
ในชีวิตประจำวันมีอาหารหลากหลายที่เราสามารถหาซื้อได้ง่ายเพื่อนำมารับประทานในเวลาที่เร่งรีบ อีกทั้งมีอาหารหลายชนิดที่เราเคยชินกับการนำมารับประทานโดยไม่ทันได้คิดว่าหากรับประทานมากเกินไปแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกาย มาดูอาหารที่คนญี่ปุ่นแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทานบ่อยๆ กัน
-
เนื้อสัตว์แปรรูป
เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม และบาโลน่า เป็นต้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อง่ายและมีรสชาติอร่อย แต่เนื้อสัตว์แปรรูปเหล่านี้มีส่วนผสมของเกลือ กรดไนไตรท์ สารกันบูด และวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งหากรับประทานบ่อยๆ ในปริมาณมาก อาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคอ้วนได้ ดังนั้นหากต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ การเลือกรับประทานเนื้อสดจะปลอดภัยมากกว่าเนื้อสัตว์แปรรูป
-
น้ำมันพืชเติมไฮโดรเจนหรือน้ำมันทรานส์
น้ำมันทรานส์ เป็นน้ำมันพืชที่เติมไฮโดรเจน (Hydrogenated) ไปในไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เพื่อทำให้น้ำมันพืชเก็บได้นานขึ้น คงตัวได้ดี ไม่เหม็นหืนและนำมาทอดอาหารได้กรอบอร่อยขึ้น แต่เมื่อร่างกายรับไขมันทรานส์เข้าไปในร่างกายในปริมาณที่สูงมากเกินไป ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ไขมันอุดตันเส้นเลือด และมะเร็งได้ เวลาเลือกซื้อน้ำมันจึงควรอ่านที่บรรจุภัณฑ์ว่าน้ำมันพืชชนิดนั้นๆ เป็นน้ำมันทรานส์ที่ได้จากการเติมไฮโดรเจนหรือไม่ แทนการผัดทอดก็หันมาใช้วิธีการปรุงอาหารที่ใช้น้ำมันน้อย อีกทั้งสามารถใช้น้ำมันมะกอกและน้ำมันมะพร้าวแทนได้ ไม่เฉพาะแต่น้ำมันพืชที่เติมไฮโดรเจน การนำน้ำมันมาใช้ทอดซ้ำหลายครั้งก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นกัน เพราะความร้อนที่อุณหภูมิเกิน 180 องศาเซลเซียสจะเปลี่ยนน้ำมันให้เป็นน้ำมันทรานส์ได้
-
มันฝรั่งทอด หรือโปเตโต้ชิพ
มันฝั่งทอดไม่เพียงแต่เป็นของว่างที่ให้พลังงานสูงและมีกรดไขมันทรานส์สูงอยู่แล้ว การทอดมันฝรั่งซึ่งมีแป้งเป็นองค์ประกอบในอุณหภูมิสูงจะก่อให้เกิดสารชื่อ อะคริลาไมด์ (Acrylamide) ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปมากจะเป็นสารก่อมะเร็ง และทำให้เกิดการอักเสบของปลายประสาทได้
-
น้ำตาลเทียม
แม้การรับประทานน้ำตาลเทียมจะช่วยลดการรับปริมาณแคลอรี่เข้าสู่ร่างกายได้ แต่ความหวานที่ได้จากสารสังเคราะห์ จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในลำไส้ ทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกายทำงานผิดปกติ และนำไปสู่ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานด้วย
-
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แม้จะมีข้อโต้แย้งกันถึงข้อดีและข้อเสียของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เพิ่มภาระการทำงานของสมองและตับ ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ทำให้ซึมเศร้า และทำลายผิวพรรณ เป็นต้นได้
-
อาหารเสริมอัดแท่ง
ปัจจุบันหนุ่มสาววัยทำงานจำนวนมากรับประทานอาหารเสริมอัดแท่งเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับพลังงานและโปรตีนเข้าสู่ร่างกาย แต่จริงๆ แล้วอาหารเสริมชนิดนี้เหมาะสำหรับคนที่ควบคุมน้ำหนักหรือนักกีฬา แต่ในคนที่รับประทานอาหารสามมื้อปกติ หากรับประทานอาหารเสริมอัดแท่งเข้าไปด้วย ก็เป็นการเพิ่มพลังงานเข้าไปในร่างกายจากน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในอาหารเสริม นอกจากนี้อาจจะมีสารกันบูดและไขมันทรานส์ด้วย ดังนั้นหากรับประทานอาหารครบสามมื้อก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริมอัดเป็นแท่ง
-
ซีเรียล
ด้วยความเร่งรีบคนส่วนใหญ่มักรับประทานซีเรียลเป็นอาหารเช้าตามโฆษณาชวนเชื่อว่ามีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน แต่ในความเป็นจริงแล้วกระบวนการผลิตที่ใช้ความร้อนสูงได้ทำลายสารอาหารที่มีคุณค่าในวัตถุดิบเกือบหมด หากต้องการรับประทานซีเรียลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายก็ควรเติมข้าวโอ๊ต ผลไม้ เช่น กล้วยหรือแอปเปิ้ล หรือผลไม้แห้งลงไปเพิ่มคุณค่าทางอาหารด้วย
-
น้ำผลไม้ที่มีจำหน่ายทางการค้า
แม้จะระบุว่าเป็นน้ำผลไม้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยส่วนใหญ่บริษัทผู้ผลิตมักเติมน้ำตาล สารให้ความหวานสังเคราะห์ และสีลงไปด้วย อีกทั้งในระหว่างกระบวนการผลิตสารอาหารและวิตามินที่มีคุณค่าก็ถูกทำลายไปเกือบหมด หากไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำผลไม้ที่มีขายสำเร็จรูป แต่หากอยากดื่มก็ควรจะหาซื้อน้ำผลไม้ที่คั้นสดหรือทำเองมาดื่มแทน
-
ซอสมะเขือเทศ
ซอสมะเขือเทศที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปมักจะมีการเติมน้ำตาลในปริมาณสูง ดังนั้นควรระวังไม่รับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วนและเบาหวานได้
บางทีการได้รับประทานสิ่งที่ชอบก็คือความสุขอย่างหนึ่ง แม้จะมีอาหารมากมายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ก็ไม่จำเป็นต้องละเลิกฝืนทน เพียงแต่คอยเตือนตัวเราว่ารับประทานได้ในปริมาณเล็กน้อยและไม่บ่อยเกินไป หากเราสร้างสมดุลในการเลือกรับประทานอาหารได้ โรคภัยก็จะห่างไกลจากตัวเราและครอบครัว