"ปวดหลัง" แบบไหน อันตราย ควรพบแพทย์
-
ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการปวดหลังรุนแรงที่มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย ดังนั้น การพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอาการปวดหลังจึงเป็นสิ่งสำคัญ
-
คนที่กลัวการผ่าตัดกระดูกสันหลังในอดีตนั้น สามารถวางใจได้ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ในการผ่าตัดนั้นส่งผลให้คนไข้ ฟื้นตัวไว แผลเล็ก เจ็บน้อย พักฟื้นสั้น ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของคนในปัจจุบัน
นพ.ภัทร อำนาจตระกูล แพทย์สาขาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า อาการปวดหลังเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัยและทุกกลุ่มประชากรทั่วโลก ในผู้ป่วยบางรายมีอาการรุนแรงจนมีผลกับงาน และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
อาการปวดหลัง มีกี่แบบ
ถ้าแบ่งตามช่วงเวลาของอาการ อาการปวดหลัง อาจเกิดแบบปวดฉับพลัน (Acute: ปวดหลังต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์) กึ่งเฉียบพลัน (Subacute: ปวดหลังต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์) และ ปวดเรื้อรัง (Chronic: ปวดหลังต่อเนื่องนานกว่า 12 สัปดาห์) ในประเทศอุตสาหกรรม ความชุกชั่วชีวิต (Lifetime Prevalence) ของโรคปวดหลังพบประมาณ 60-70% (ความชุกต่อปี ประมาณ 15-45% ส่วนอุบัติการณ์ในผู้ใหญ่พบได้ประมาณ 5% ต่อปี)
สาเหตุของอาการปวดหลัง
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุหรือปัจจัยต่างๆ ที่มากระตุ้นทำให้มีอาการปวดหลัง เช่น การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่หนักเกินไป การเคลื่อนไหวผิดลักษณะ แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้น การพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอาการปวดหลังเป็นสิ่งสำคัญ โดยสาเหตุหรือกลุ่มโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมาอาการปวดหลัง ได้แก่
- กล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ (Muscle Strain or Ligament Sprain) การอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณหลัง พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับกิจกรรมที่หนักเกินไป เช่น ก้มตัวยกของหนัก การนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ การเคลื่อนไหวผิดท่าด้วยความรวดเร็ว รวมถึงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
- โรคของหมอนรองกระดูก ภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรัง และมักมีอาการซ้ำได้บ่อยๆ ส่วนอาการปวดหลังร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดร้าวลงขา ขาชา หรืออ่อนแรง มักสัมพันธ์กับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- อาการปวดหลังที่สัมพันธ์กับความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ได้แก่ ภาวะกระดูกพรุน ภาวะกระดูกสันหลังคด หรือค่อม ผิดรูป
- ภาวะปวดหลังจากสาเหตุอื่นๆ
- ปวดหลังจากกระดูกหัก ไม่ว่าจะเป็นการหักแบบธรรมชาติ (Physiologic Fracture) ได้แก่ กระดูกสันหลังหักจากอุบัติเหตุทั่วๆ ไป หรือ กระดูกหักแบบผิดธรรมชาติ (Pathologic Fracture) เช่นกระดูกหักจากการติดเชื้อกระดูกสันหลัง วัณโรคกระดูกสันหลัง หรือหักจากเนื้องอก มะเร็ง
- ปวดหลังจากการข้อต่ออักเสบ (Arthritis) เช่น ข้อต่อแฟเซทอักเสบ (Facet Arthritis) การอักเสบระหว่างข้อต่อที่เชื่อมกระดูกสันหลังและเชิงกราน (SI Joint Arthritis) ปวดหลังจากโรคข้อต่อหลังเชื่อมติดกัน (Ankylosing Spondylitis)
- ปวดหลังจากการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง
- ปวดหลังจากเนื้องอก หรือมะเร็งกระดูก
ความเสี่ยงของอาการปวดหลัง
- อายุ
- ภาวะอ้วน
- กิจกรรมที่หนักเกินไป
- การขาดการออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่
- ความเครียด
ปวดหลังแบบไหนอันตรายต้องรีบพบแพทย์
- ปวดหลังต่อเนื่อง และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่า 4 สัปดาห์
- ปวดหลังที่เกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง เช่น อุบัติเหตุจราจร ตกจากที่สูง
- ปวดหลังร่วมกับความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงขา ชาขา หรืออ่อนแรงของขา
- ปวดหลังร่วมกับการควบคุมการขับถ่ายที่เสียไป เช่น สูญเสียการกลั้นอุจจาระ/ปัสสาวะ
- ปวดหลังร่วมกับอาการไข้ น้ำหนักลด
การวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดหลัง ถือเป็นหัวใจสำคัญขั้นแรกในการรักษาโรคปวดหลังให้ประสบผลสำเร็จ การวินิจฉัยโรคปวดหลังมีวิธีการทางการแพทย์ดังนี้
- การซักประวัติ
- ประวัติและลักษณะอาการปวด ระยะเวลา ตำแหน่งที่ปวดเช่น ปวดหลังช่วงล่าง บริเวณช่วงเอว ปวดกลางหลัง ปวดสะบักจนถึงคอ อาการแสดงร่วม ประวัติการบาดเจ็บ ประวัติการรักษา รวมถึงภาวะโรคประจำตัว เป็นต้น
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจตำแหน่งที่มีอาการปวด ตรวจการเคลื่อนไหว ความยืนหยุ่น ความผิดรูปของกระดูกสันหลัง
- การตรวจการทำงานของระบบประสาท ได้แก่การตรวจความรู้สึก ตรวจกำลังของกล้ามเนื้อ การตรวจความไวต่อการกระตุ้นระบบประสาท (Reflex)
- การส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ
- การตรวจ X-ray แบบปกติ ใช้ประเมินความผิดรูปของกระดูกหลัง ประเมินการหักของกระดูก
- การตรวจ X-ray พิเศษ เช่น CT Scan หรือ MRI ใช้ประเมินภาวะการตีบของโพรงเส้นประสาท ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท การติดเชื้อ หรือเนื้องอกของกระดูกสันหลัง
การป้องกันอาการ ปวดหลัง
ปรับท่าในการประกอบกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้อง โดยยึดหลัก 3 Smarts
Sit Smart: ปรับท่าการนั่งทำงานให้ถูกต้อง โดยฝึกนั่งตัวตรง นั่งให้เต็มก้น หลังพิงพนักพอดี โต๊ะ และเก้าอี้มีความสูงที่พอเหมาะและสอดคล้องกัน รวมถึงหลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ท่าเดิมเป็นเวลานานๆ
Stand Smart: การยืนที่ถูกต้องสามารถลดการบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อหลังได้ หลีกเลี่ยงการยืนหลังค่อม ยืนลงน้ำหนักขาเดียว
Lift Smart: การก้มยกของที่ถูกท่า โดยการย่อเข่าลงไปเพื่อยกของแทนการโน้มหลังก้มลงไป เพื่อที่จะใช้แรงจากกล้ามเนื้อขาช่วยยกของเมื่อยืนขึ้น ก็สามารถลดการบาดเจ็บต่อโครงสร้างหลังได้เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่หนักเกินไป เช่น การยกของหนัก การเล่นกีฬาโดยขาดการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ (Warm up)
- ออกกำลังกายหรือบริหารเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้องและหลังให้แข็งแรงเป็นประจำอยู่เสมอ
- งดสูบบุหรี่
การป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงของโรคปวดหลัง และหมั่นสังเกตอาการปวดหลังด้วยตนเอง เป็นส่วนสำคัญในการดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างง่ายๆ แต่หากพบอาการปวดหลังที่มีสัญญาณไปในทางไม่ดี เช่น ปวดหลังเป็นเวลานาน หรืออาการปวดหลังร่วมกับภาวะความผิดปกติของระบบประสาท (Red flag signs) ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ เพื่อทำการตรวจประเมินและวินิจฉัยหาสาเหตุ รวมถึงทำการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
เนื่องจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังในปัจจุบันนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรุดหน้าไปไกล คำว่า “ผ่าหลังแล้วจะเดินไม่ได้” ที่เคยทำให้ทุกคนกลัวการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นอย่างมากในอดีตนั้น คงไม่มีผลอะไรมากแล้วในปัจจุบัน หากท่านพบแพทย์แล้วต้องได้รับการผ่าตัดจริงๆ ก็สามารถวางใจได้ เนื่องจากข้อดีของเทคโนโลยีใหม่ในการผ่าตัดนั้นมีมากมาย เช่น ฟื้นตัวไว แผลเล็ก เจ็บน้อย พักฟื้นสั้น ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของคนในปัจจุบันเช่นกัน