"ภูมิแพ้" มีกี่แบบ อาการเป็นอย่างไร

"ภูมิแพ้" มีกี่แบบ อาการเป็นอย่างไร

"ภูมิแพ้" มีกี่แบบ อาการเป็นอย่างไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องของ “อาการแพ้” เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวมาก เพราะอาการแพ้บางอย่างค่อนข้างแปลกและดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ นั่นทำให้คนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการแพ้เป็นอย่างดี มักจะมองว่าคนที่มีอาการแพ้เหล่านี้เป็นเพียงเรื่องโกหก สร้างอาการแพ้แบบแปลกๆ เพราะอยากเด่นกว่าคนอื่น หรือแกล้งทำเป็นสำออย ทำให้บ่อยครั้งมีการแกล้งกันด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าอีกฝ่ายจะแพ้สิ่งเหล่านี้จริงๆ หรือจะแพ้ได้รุนแรงขนาดนี้

เรื่องของอาการแพ้จึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักให้มาก และการแกล้งกันด้วยการเอาชีวิตคนอื่นมาทำเป็นเรื่องตลกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เพราะหากคนผู้นั้นมีอาการแพ้อย่างรุนแรง นั่นหมายถึงอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น ไม่ว่าจะคนผู้นั้นจะมีอาการแพ้อะไรหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ควรจะแกล้งกันด้วยเรื่องแบบนี้เด็ดขาด

Tonkit360 จึงจะมาแนะนำอาการแพ้โดยทั่วไปที่มักเกิดขึ้นกับคน เพื่อที่จะได้ระวังกันให้มากว่าอันตรายถึงตายได้

แพ้อาหาร

แพ้อาหาร เป็นภาวะที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาไวต่ออาหารที่กินเข้าไป บางรายที่มีอาการแพ้หนัก ร่างกายจะตอบสนองจนแสดงอาการแพ้ได้แม้กระทั่งได้กลิ่น ซึ่งเมื่อประสาทสัมผัสรับสารก่อภูมิแพ้จากอาหารเข้าไป ร่างกายจะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานในสภาวะที่ร่างกายรับสิ่งแปลกปลอมเข้าไป และหลั่งสารเคมี เช่น ฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการอักเสบ แพ้ หรือมีอาการคันได้ โดยอาการแพ้มักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที หรืออาจจะนานได้ถึงประมาณ 2-3 ชั่วโมง ตัวอย่างอาหารที่คนไทยมักมีอาการแพ้ เช่น

  • แพ้นมวัว เช่น แพ้โปรตีน Caseins และ b-Lactoglobulin ในนมวัว หรือแพ้น้ำตาลแล็กโทสในนมวัว
  • แพ้กลูเตน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งอยู่ในพืชอย่างข้าวสาลี ข้าวไรย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลี
  • แพ้ไข่ เป็นอาการแพ้โปรตีนที่อยู่ในไข่ ซึ่งมีทั้งผู้ที่แพ้เฉพาะไข่ขาวหรือไข่แดง เนื่องจากไข่ 2 ชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีต่างกัน หากแพ้โปรตีนเพียงบางตัวที่มีเฉพาะในแดงหรือไข่ขาว ก็สามารถกินไข่อีกชนิดได้ แต่ก็พบผู้ที่แพ้ทั้งไข่แดงและไข่ขาวเช่นกัน
  • แพ้ถั่ว ผู้ที่แพ้พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลิสง ถั่วเหลือง อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ และอาหารที่มีส่วนผสมของถั่ว
  • แพ้แป้งสาลี เป็นอาการแพ้คนละชนิดกับผู้ที่แพ้กลูเตน แม้ลักษณะอาการจะคล้ายกัน แต่ผู้ที่แพ้แป้งสาลีจะแพ้โปรตีนหลายตัวกว่า อีกทั้งระดับความรุนแรงยังมากกว่าด้วย ดังนั้น ผู้ที่แพ้โปรตีนในแป้งสาลีให้ระวังอาหารที่ทำจากแป้งสาลี (ส่วนอาหารอื่นที่มีกลูเตนสามารถกินได้)
  • แพ้อาหารทะเล เช่น แพ้กุ้ง (ทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด) ปลา ปลาหมึก หอย ปู ซึ่งโอกาสในการแพ้นั้นเกิดจากทั้งแพ้โปรตีนที่อยู่ในอาหารทะเล หรืออาจจะแพ้สารปนเปื้อนที่มากับอาหารทะเลก็ได้

อาการของโรค หลังจากกินอาหารที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ (แม้จะเพียงเล็กน้อย บางคนเพียงแค่ได้กลิ่น) เข้า อาการที่ร่างกายมักแสดงออกมาคือ ผิวหนังอักเสบ โดยเฉพาะบริเวณบริเวณริมฝีปาก ใบหน้า ลำคอ ภายในช่องปาก ร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจอย่างเช่น หายใจไม่ออก หายใจหอบ แน่นหน้าอก หรือมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ท้องร่วง ในรายที่มีอาการหนักอาจความดันต่ำ หมดสติ มีภาวะช็อก และถึงขั้นเสียชีวิต

แพ้อากาศ

เป็นอาการแพ้ที่มีแนวโน้มจะมาจากกรรมพันธุ์มากที่สุด (โรคภูมิแพ้) ผู้ที่แพ้อากาศจะไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างมาก ไม่ว่าจะอากาศร้อน อากาศเย็น ความชื้น ความแห้ง หรือง่ายๆ ก็คือแค่อากาศเปลี่ยนก็สามารถแสดงอาการแพ้ออกมาได้แล้ว ซึ่งการแพ้อากาศนี้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ยังรวมถึงผู้ที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ที่กระจายอยู่ในอากาศด้วย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวผู้ป่วย เช่น แพ้ฝุ่น แพ้ขนสัตว์บางชนิด แพ้เกสรดอกไม้ แพ้น้ำหอมทีมีกลิ่นฉุนรุนแรง แพ้มลพิษที่เจือปนอยู่ในอากาศ เป็นต้น

ปกติระบบทางเดินหายใจของคนจะมีระบบกรองอากาศโดยธรรมชาติช่วยกรองสิ่งแปลกปลอมอยู่แล้ว นั่นคือ ขนจมูก ซึ่งขนจมูกจะกรองฝุ่นละอองได้ส่วนหนึ่ง (เมื่อเจอฝุ่นแล้วเราจึงจามออกมา) โดยที่ขนจมูกจะกรองฝุ่นอนุภาคเล็กที่สุดคือ 30 ไมครอน หากฝุ่นละอองเล็กกว่านั้น จะผ่านระบบการกรองของขนจมูกลงไปในคอ เล็กกว่า 10 ไมครอนจะลงหลอดลม และถ้าหากเล็กถึงขนาด 2.5 (PM 2.5) สามารถซึมเข้ากระแสเลือดได้เลย

อาการของโรค เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม สารก่อภูมิแพ้ หรืออากาศเปลี่ยนแปลง จะทำให้เยื่อบุโพรงจมูกระคายเคือง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล (น้ำมูกใส) คัดจมูก และมีเสมหะ อาจมีอาการระคายเคืองที่ตาหรือเป็นไข้ร่วมด้วย ในบางรายรุนแรงถึงขั้นทำให้หลอดลมอักเสบ มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เวียนศีรษะ ถึงขั้นหมดสติ และเสียชีวิตได้

แพ้สารเคมี (สังเคราะห์)

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสารเคมีตามความหมายของเคมี (วิทยาศาสตร์) เป็นสสารที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีองค์ประกอบทางเคมี ดังนั้น “เคมี” ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะอันตรายเสมอไป อย่างอาหารที่เรากินก็เป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง อย่างคาร์โบไฮเดรต ก็มีองค์ประกอบทางเคมีคือคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน แต่การแพ้สารเคมีสังเคราะห์ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกสารเคมีในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน แพ้คลอลีนในน้ำประปา แพ้เครื่องสำอาง เป็นต้น

อาการของโรค เมื่อร่างกายไปสัมผัสเข้ากับสารเคมีสังเคราะห์เหล่านี้ ร่างกายจะตอบสนองต่อสารเคมีชนิดนั้นๆ จนเกิดอาการผิวหนังอักเสบ หรือที่เรียกว่าลมพิษ ทำให้มีอาการคัน มีผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง บวมแดง ซึ่งผื่นที่ขึ้นนั้นมักจะแห้งร่วมกันสะเก็ดแผล ในรายที่มีอาการแพ้รุนแรงอาจมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ ระคายเคืองที่ตา ร่วมกับอาการทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งรุนแรงที่สุดถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยเช่นกัน

การดูแลตนเองของผู้ที่มีอาการแพ้

ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่มีอาการแพ้ และพกยาประจำตัวติดตัวไว้ตลอดเวลา ซึ่งปกติแล้วผู้ป่วยจะรู้ตัวเองดีว่าตัวเองแพ้อะไรและต้องหลีกเลี่ยงอะไร อย่างไรก็ตามมักจะมีคนที่ยังไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นเรื่องที่กุขึ้น แกล้ง หรือมองเป็นเรื่องเล่นๆ ตลกขบขัน แต่คนที่มีอาการแพ้เช่นนี้มีอยู่จริง และไม่ควรจะแกล้งกัน เพราะในผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงจะอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นจึงควรมีจิตสำนึกว่าเรื่องที่อันตรายถึงชีวิตได้แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาล้อกันเล่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook