ไขข้อสงสัย! ทำไมคนป่วย “อัลไซเมอร์” มากขึ้น
ทุกวันนี้ โรคประจำตัวของผู้สูงอายุไม่ได้มีแค่เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจเท่านั้น แต่ยังมี “โรคอัลไซเมอร์” ที่พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมราว 50 ล้านคน และทุกปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งโรคอัลไซเมอร์ถือเป็นโรคที่พบในผู้ป่วยสมองเสื่อมมากที่สุด หรือประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด
อายุยืนขึ้น โอกาสสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์กันมากขึ้น เป็นเพราะผู้คนมีอายุที่ยืนยาวมากกว่าในอดีต เนื่องด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้น จึงทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมากรอดชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ทั้งนี้ อายุถึงเป็นเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม และเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อมีอายุยืนยาวขึ้นจึงพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นสมองเสื่อมมากขึ้นตามไปด้วย โดยภาวะสมองเสื่อมมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตในปัจจุบันก็เป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน อาทิ มีนิสัยชอบอะไรซ้ำๆ หรือมีกิจวัตรประจำวันแบบเดิมๆ ในทุกวัน, ไม่ชอบเข้าสังคม ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว, ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา หรือมีโรคประจำตัวที่อาจทำให้ภาวะหลอดเลือดสมองตีบได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง แต่ไม่ดูแลสุขภาพให้ดี ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมตามมาได้
“อัลไซเมอร์” สาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม
สมองเสื่อมเป็นภาวะที่การทำงานของสมองถดถอยลง เนื่องจากเซลล์สมองถูกทำลายจนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งการทำงานของสมองจะประกอบไปด้วย 6 ด้าน ได้แก่ เรื่องสมาธิ การจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า, การคิด การตัดสินใจ และการวางแผน, ความจำ, การใช้ภาษา, ความเข้าใจในการรับรู้เส้นทาง, การเข้าสังคม
หากการทำงานของสมองอย่างใดอย่างหนึ่งสูญเสียไปจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ เช่น เรียกชื่อสิ่งของผิด ไม่สามารถลำดับขั้นตอนในสิ่งที่เคยทำเป็นประจำได้ ความทรงจำระยะสั้นหายไป หรือหลงทิศทาง แสดงว่ากำลังเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม
สำหรับโรคอัลไซเมอร์นั้นถือเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุดในผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งจะส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการใช้ภาษา ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้กลับคืนมาเป็นปกติได้
อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งแบ่งเป็นสาเหตุของสมองเสื่อมที่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้ อาทิ สมองอักเสบ, เนื้องอกในสมองบางชนิด, ผลข้างเคียงจากการใช้ยา, ภาวะขาดไทรอยด์ ,ขาดวิตามินบี 12, ได้รับสารพิษโลหะหนัก, ราเรื้อรัง, ติดเชื้อเอชไอวี
ส่วนสาเหตุของสมองเสื่อมที่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้ อาทิ โรคพาร์กินสัน, ภาวะสมองเสื่อมที่มาจากโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด, ผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มาพร้อมอาการทางประสาท มีอาการประสาทหลอน, ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง
อัลไซเมอร์ไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ
อัลไซเมอร์เป็นโรคที่ยังไม่พบสาเหตุแน่ชัด และไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อไมลอยด์ (ฺBeta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อลง รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหาย จากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ
เมื่อมีการสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ ดังนั้นเมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษา และพฤติกรรมของผู้ป่วย
ป้องกันไม่ได้ แต่ชะลอการเป็นอัลไซเมอร์ได้
เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรค แต่มีหนทางที่อาจช่วยชะลอการเริ่มต้นของโรค คือการลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดตามมา
ดังนั้น จึงควรดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ โดยเลือกรับประทานผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 ส่วน, หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที และเลือกการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ให้ร่างกายได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ซ้ำๆ เช่น ปั่นจักรยาน วิ่ง เดินเร็ว, ตรวจและควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป รวมถึงควรลดละเลิกการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย และหากป่วยเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมการรับประทานอาหารและการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าผู้ที่ฝึกตนเองให้มีความกระฉับกระเฉงด้านร่างกาย ความคิด และทักษะทางสังคมเป็นประจำและสม่ำเสมอ หรือผู้ที่มีกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่หลากหลาย อาจมีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมน้อยลงด้วย
นอกจากนี้ การปรับนิสัยตนเอง เพื่อสุขภาพสมองที่ดีขึ้น! ด้วยการใส่ใจทั้งอาหารการกิน, การนอน และการออกกำลังกาย ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบริการสมองให้ยังคงใช้งานได้ดี แม้ว่าจะสูงวัยขึ้นก็ตาม