"เชื้อราแมว" ภัยอันตรายจากการเลี้ยงสัตว์
โรคที่มาจากการเลี้ยงสัตว์ที่ทำให้คนที่เป็นเจ้าของต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมีหลายโรค หนึ่งในโรคที่อาจพบได้คือ “เชื้อราแมว” โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่คน มีสาเหตุมาจากอะไร และควรมีการระมัดระวังดูแลตัวเองและสัตว์เลี้ยงอย่างไร Sanook Health มีข้อมูลจาก อ. นพ.สมศักดิ์ ตันรัตนากร สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน
เชื้อราแมว คืออะไร?
เชื้อราแมว มีหลายชนิด ที่พบได้บ่อยและก่อให้เกิดโรคคือเชื้อ Microsporum canis เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ผิวหนังของสัตว์ ปกติจะไม่ก่อให้เกิดโรคใดๆ กับสัตว์ แต่สามารถติดต่อมายังคนได้ผ่านทางการสัมผัสโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล ก็ทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราจากแมวได้อย่างง่ายดาย พฤติกรรมที่นำไปสู่การติดเชื้อ เช่น อุ้ม กอด นอนร่วมที่นอนเดียวกัน เป็นต้น
กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง
- เด็ก
- ผู้สูงอายุ
- สิ่งที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงที่ทำให้เกิดโรค
อาการเมื่อติดเชื้อราแมว
มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ลักษณะเป็นวง มีขุยรอบๆ ค่อยๆ ขยายเป็นวงกว้าง และรู้สึกคันตลอดเวลา หากเกาแล้ว นิ้วที่เกาเผลอไปเกาบริเวณอื่นอาจทำให้บริเวณนั้นติดเชื้อราด้วยได้
วิธีการรักษาอาการติดเชื้อราแมว
หากมีอาการน้อย มีผื่นขึ้นไม่มาก 1-2 จุด ใช้ยาทาฆ่าเชื้อราต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ ผื่นจะค่อยๆ หายไป
หากมีอาการมาก ผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ต้องใช้ทั้งยาทาและยากินร่วมกัน ระยะเวลาในการรักษาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม หลังรักษาอาการติดเชื้อแล้ว อาจทิ้งรอยดำที่เกิดจากการติดเชื้อเอาไว้ได้ และถึงแม้ว่าอาการเชื้อราจะหายแล้ว รอยดำจากเชื้อจะยังคงอยู่ จะจางไปเองภายใน 2-3 เดือน และมักไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้น
แต่พบว่าบางคนกลับเป็นนานกว่านั้น สาเหตุเพราะมีการกลับมาเป็นซ้ำซึ่งพบได้บ่อยมาก ทำให้เกิดริ้วรอยด่างดำต่อเนื่องไม่รู้จบ รอยเก่ายังไม่ทันหายไป ก็มีรอยใหม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่รู้ตัวว่ารอยเดิมได้จางหายไปแล้ว จึงคิดว่าเป็นอยู่นาน แต่ในความจริงเป็นการกลับมาเกิดซ้ำของเชื้อรานั่นเอง
การป้องกันเชื้อราแมว และการกลับมาเกิดซ้ำ
- ทำความสะอาดมือและอวัยวะต่างๆ ทุกครั้ง หลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง
- ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
- ทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้านที่สัตว์เลี้ยงมีการสัมผัส เช่น โซฟา หมอน พรมปูพื้น เป็นต้น
- หากมีการติดเชื้อราแมว หลังรักษาคนแล้วควรนำสัตว์เลี้ยงไปรักษาด้วย
- ไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงมากเกินไป เช่น การนอนร่วมที่นอนเดียวกัน
นอกจากแมว สัตว์เลี้ยงชนิดอื่นทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราได้หรือไม่?
นอกจากแมวแล้วสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ก็ทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราได้เช่นกัน หากมีการสัมผัสเกิดขึ้นและสัตว์เลี้ยงนั้นมีเชื้อราอยู่ จึงควรปฏิบัติให้เหมาะสมในเรื่องของความสะอาด ทั้งคนเลี้ยง สัตว์เลี้ยง และของใช้ภายในบ้าน
เชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่?
เชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสหรือการใช้ของบางอย่างร่วมกัน เช่น การใส่เสื้อผ้าร่วมกัน แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับการติดต่อจากสัตว์ ที่เป็นการติดต่อแบบข้ามสายพันธุ์