ผู้ป่วยโรคไต เสี่ยงภาวะ "กระดูกพรุน"
ในผู้ป่วยโรคไต นอกจากจะมีอาการผิดปกติที่ไตแล้ว ยังอาจส่งผลไปถึงอวัยวะส่วนอื่นด้วย แต่หลายอาจไม่ทราบว่า โรคไตสามารถก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้อีกด้วย
ทำไมเป็นโรคไต ถึงเสี่ยงกระดูกพรุน?
รศ.ดร.พญ.ปวีณา สุสัณฐิตพงษ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ไต เป็นอวัยวที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่และฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี และพาราไทรอยด์ฮอร์โมน เมื่อไตทำงานผิดปกติ จะทำให้มีการขับฟอสฟอรัสทางปัสสาวะ ลดลง มีการเพิ่มขึ้นของระดับฟอสฟอรัสในเลือด กระตุ้นการสร้างพาราไทรอยด์ฮอร์โมนทำให้กระดูกมีการสลายมากกว่าการสร้าง จึงทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้เพิ่มขึ้น
ฟอกเลือด สูญเสียวิตามินดี
นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ภาวะไตเสื่อมมักจะมีภาวะขาดวิตามินดีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด เมื่อร่างกายขาดวิตามินดี จะส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรง เปราะและแตกหักได้ง่ายมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกหัก
โรคไต ยังเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
เริ่มมีการศึกษามากขึ้นว่าภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยโรคไตสัมพันธ์กับภาวะแคลเซียมเกาะหลอดเลือด ดังนั้นหากได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนในผู้ป่วยโรคไต
- ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง
- ระดับพาราไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูง
- ภาวะขาดวิตามินดี
- ภาวะแคลเซียมเกาะหลอดเลือด
วิธีป้องกันภาวะกระดูกพรุน
ในคนทั่วไป อาจลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนจากการหลีกเลี่ยงอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป ลดอาหารเค็มจัดหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง ลดการดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ ออกไปสัมผัสแสงแดดยามเช้าเพื่อรับวิตามินดี และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต นอกจากวิธีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังต้องเข้ารับการรักษาโรคไตที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้อาการของโรคไตดีขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุนได้ด้วย