นอนมาก-น้อยเกินไป เสี่ยงอ้วน เบาหวาน หลอดเลือดสมอง
การนอนหลับพักผ่อน เป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่กลายเป็นว่าแค่การนอนหลับธรรมดาๆ กลับเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายคน ด้วยหน้าที่การเรียน การงาน รวมไปถึงสภาพจิตใจที่มีความเครียด หรือโรคซึมเศร้าต่างๆ อาจทำให้การนอนหลับที่ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายกลับกลายเป็นเรื่องยาก และส่งผลกระทบต่อร่างกายที่อันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะระยะเวลานอนที่มากหรือน้อยเกินไป อาจเกิดจากโรคทางกาย สภาพจิตใจหรือโรคที่เกิดขณะหลับ
รศ.นพ.ณัฐพงศ์ เจียมจริยธรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า วงจรการนอนหลับ แบ่งได้เป็น 2 ช่วง
- หลับไม่ฝัน
ซึ่งประกอบไปด้วยช่วงที่หลับตื้น และช่วงที่หลับลึก
- หลับฝัน
เป็นช่วงที่ตากรอกไปมา แต่ร่างกายไม่ขยับ ปกติจะมีวงจรการฝัน 4-5 รอบต่อวัน
ขณะที่ช่วงเวลา 6 โมงเย็นถึง 3 ทุ่มถือเป็นเวลาที่สมองตื่นตัว หากง่วงช่วงเวลานี้ แสดงว่าไม่ปกติ อาจมีภาวะนอนน้อย ต้องคอยสังเกตตัวเอง
ระยะเวลานอนที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงโรคอันตราย
ระยะเวลานอนที่ไม่เหมาะสม กล่าวคือ นอนน้อยกว่า 7-8 ชั่วโมงต่อคืน หรือนอนนานเกินไป หรือมากกว่า 9-10 ชั่วโมงต่อคืน เพราะรู้สึกว่านอนแค่ 7-8 ชั่วโมงแล้วยังง่วงอยู่ หากคุณมีพฤติกรรมหรืออาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องปัญหาการนอน เพราะอาจเสี่ยงโรคอันตรายได้ เช่น
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
เป็นต้น
ระยะเวลานอนที่เหมาะสม
ระยะเวลานอนที่เหมาะสม คือ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน และควรเข้านอนในเวลา 22.00 ไม่เกินเที่ยงคืน พยายามเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด