6 กลุ่มเสี่ยง “ฮีตสโตรก” อันตรายที่มาทุกหน้าร้อน
เตือนระวัง กลุ่มเสี่ยงฮีตสโตรก อันตรายจากอากาศร้อน ระวังป่วยโรคฮีตสโตรก โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ขอให้ดูแลสุขภาพของตนเองและหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด
ฮีตสโตรก คืออะไร?
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้สภาพอากาศโดยทั่วไปมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอาจเจ็บป่วยจากโรคฮีตสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้
อาการของฮีตสโตรก
ฮีตสโตรก มีอาการสำคัญ ได้แก่
- ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส
- หน้ามืด
- เพ้อ กระสับกระส่าย
- มึนงง
- หายใจเร็ว
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ชัก เกร็ง
- ช็อก หมดสติ
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
6 กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง โรคฮีตสโตรก
- ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ผู้ที่ทำงานก่อสร้างหรือออกกำลังกาย
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ที่มีภาวะอ้วนและนอนไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อกลไกควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
วิธีลดความเสี่ยงภาวะฮีตสโตรก
- สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี
- ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
- ลดหรือเลี่ยงทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงกลางแจ้งนานๆ
- สวมแว่นกันแดด กางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง
- ควรดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกายจากเหงื่อออก
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดไว้กลางแจ้ง เนื่องจากอุณหภูมิภายในรถจะสูงกว่าภายนอก ส่วนผู้ที่ออกกำลังกาย ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนมาก และเป็นเวลาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยผู้มีอาการเจ็บป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยให้ดื่มน้ำเย็นและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ให้อยู่ในที่ระบายอากาศที่ดี ถ้ามีอาการรุนแรงหรือหมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที