ลด "แป้ง" แล้วน้ำหนักจะลด จริงหรือ?
วิธียอดนิยมในการลดน้ำหนัก คือ การลดการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของ “แป้ง” เพราะเชื่อว่าแป้งเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง รับประทานมากเกินไปอาจสะสมจนกลายเป็นไขมันจนทำให้อ้วนขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วการลดแป้ง เป็นวิธีที่ถูกต้องในการลดน้ำหนักหรือไม่?
ลด "แป้ง" แล้วน้ำหนักจะลด จริงหรือ?
นศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร แพทย์สาขาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า การลดน้ำหนักด้วยวิธีลดการกินแป้ง สามารถลดน้ำหนักได้จริง แต่ได้ผลแค่เพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วยเหตุผลดังนี้
- การลดสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว และผลไม้ที่มีรสหวาน จะทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง และกระตุ้นการสลายไขมัน เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน
- เมื่อร่างกายสลายไขมัน จะเกิดสารคีโตบอดีส์ (ketone bodies) ทำให้เบื่ออาหาร และกินน้อยลง
ข้อควรระวัง หากลดน้ำหนักด้วยการลดแป้ง
- หากกลับมากินแป้งอีกครั้ง น้ำหนักจะขึ้นเร็วมาก
- อาจได้รับวิตามิน และแร่ธาตุไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันโรคนิ่ว
- เมื่อกินไขมันจากสัตว์ อาจทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มลดน้ำหนักด้วยการลดแป้ง
สำหรับผู้ที่อยากลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ปลอดภัยปละยั่งยืน สามารถควบคุมอาหารโดยยังกินอาหารได้ครบทั้ง 5 หมู่ แต่จำกัดปริมาณของอาหารที่ให้พลังงานสูงให้น้อยลง เช่น ของมัน ของทอด อาหารที่มีน้ำตาลสูง เลือกรับประทานแป้งเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เป็นต้น และอย่าลืมออกกำลังกายทั้งเวทเทรนนิ่งและคาร์ดิโอ แม้ว่าจะใช้เวลามากกว่าการอดแป้งอย่างเดียว แต่รับรองว่าปลอดภัยและยั่งยืนแน่นอน