6 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ"

6 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ"

6 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สังเกตอาการนอนของตัวเอง ดูว่ามีความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับจาก 6 สัญญาณอันตรายเหล่านี้หรือไม่ หากมีความเสี่ยงควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจอันตรายถึงชีวิตได้

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) เกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหลับ ส่งผลให้ลมหายใจผ่านน้อยกว่าปกติ หรือไม่สามารถผ่านเข้าออกได้แม้จะใช้แรงในการหายใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะความผิดปกตินี้เป็นอันตราย และอาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาได้ แนะควรได้รับการตรวจเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

อันตรายจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จะทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนและเกิดคาร์บอนไดออกไซด์คั่งในเลือดจนถึงระดับที่สมองต้องมีการสั่งการให้หายใจ ทำให้สมองถูกกระตุ้นให้ตื่นอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกว่านอนหลับไม่สนิท 

6 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ"

  1. ขากระตุกขณะนอนหลับ
  2. นอนละเมอ
  3. มีภาวะความดันโลหิตสูง
  4. มีภาวะอ้วนลงพุง
  5. ปากแห้ง คอแห้งในช่วงเช้า
  6. อ่อนเพลียในตอนกลางวัน

ภาวะนี้พบมากในผู้ชายประมาณร้อยละ 15 ส่วนผู้หญิงพบได้ประมาณร้อยละ 6 ของประชากรวัยกลางคน ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการนอนกรน ตื่นเช้าไม่สดชื่น ปากแห้งคอแห้ง อ่อนเพลียตอนกลางวัน หรือรู้สึกตัวตื่นมาสำลักตอนกลางคืน ถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อโรคและควรเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ 

วิธีตรวจวินิจฉัย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยามีห้องตรวจการนอนหลับชนิดที่มีคลื่นไฟฟ้าสมอง (In-Lab Polysomnogram) ซึ่งสามารถทำให้ประเมินภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้อย่างแม่นยำ และยังสามารถตรวจหาสาเหตุอื่นที่อาจส่งผลให้มีอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น อาการขากระตุก นอนละเมอ หรือการเคลื่อนไหวผิดปกติระหว่างการนอนหลับ 

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง คือ ผู้ที่มีภาวะ หรือโรค ดังต่อไปนี้

  • โรคอ้วน กลุ่มอาการอ้วนลงพุง 
  • โรคเบาหวาน 
  • โรคความดันโลหิตสูงในอายุน้อย 
  • ภาวะหัวใจวาย 
  • ภาวะหัวใจสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) 
  • โรคเส้นเลือดหัวใจ 
  • โรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก  
  • โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา 
  • ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย

เป็นต้น 

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เมื่อแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นขณะหลับ อาจรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นรายบุคคล และยังมีการรักษาร่วมอย่างอื่น เช่น

  • ลดน้ำหนัก 
  • หลีกเลี่ยงการนอนหงายที่จะส่งผลให้ทางเดินหายใจถูกอุดกั้นได้ง่าย 
  • ใช้ยาพ่นจมูกกลุ่ม steroid เพื่อลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก 

เป็นต้น 

หากพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ และรักษาอย่างถูกต้องเพื่อลดปัญหาหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ที่อาจตามมาในภายหลังได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook