บุคลิกไซโคพาธ คน (ที่ดู) ปกติที่มีแนวโน้มจะเป็นฆาตกรต่อเนื่อง

บุคลิกไซโคพาธ คน (ที่ดู) ปกติที่มีแนวโน้มจะเป็นฆาตกรต่อเนื่อง

บุคลิกไซโคพาธ คน (ที่ดู) ปกติที่มีแนวโน้มจะเป็นฆาตกรต่อเนื่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคม นับวันยิ่งสะเทือนขวัญมาก จะเห็นว่าคนเราสามารถฆ่ากันง่ายยิ่งกว่ากว่ากะพริบตา กับคนใกล้ตัวก็ไม่เว้น ภรรยาฆ่าสามี สามีฆ่าภรรยา พ่อแม่ฆ่าลูก ลูกฆ่าพ่อแม่ พี่น้องฆ่ากัน แถมยังจัดการกับศพอย่างโหดเหี้ยมอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น คนเดินถนนทั่วไปก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้ไม่ยาก จากฆาตกรที่มีบุคลิกแบบไซโคพาธ ความผิดปกติที่ฆาตกรต่อเนื่องมีร่วมกัน คนกลุ่มนี้มองจากภายนอกดูเหมือนคนปกติทุกประการ แต่เขาเลือดเย็นและไร้ความเมตตา

ด้วยความที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนแบบนี้ สังคมร้อยพ่อพันแม่น่ากลัวกว่าที่คิด ขนาดคนในครอบครัวที่คิดว่าไว้ใจได้ก็ยังฆ่ากันได้ นับประสาอะไรกับคนที่เดินสวนไปมา ใครเป็นใครบ้างก็ไม่รู้ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากระวังและป้องกันตัว Tonkit360 จึงมีข้อมูลบางอย่างที่คุณควรรู้ไว้เพื่อใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น

บุคลิกแบบไซโคพาธ

เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไซโคพาธ (psychopaths) เป็นบุคคลที่มีอาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) ลักษณะอาการคือขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ขาดความยับยั้งชั่งใจ ความรู้สึกด้านชาไม่เกรงกลัว และที่สำคัญคือ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ผู้ที่มีบุคลิกแบบไซโคพาธสาเหตุหลักๆ มาจากความผิดปกติทางร่างกายและจากทางสังคม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ เเละความผิดปกติของสมองส่วนกลีบขมับ  ส่วนส่วนอะมิกดะลา ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์โกรธ เเละ ความต้องการทางเพศ หรือความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น เทสโทสเตอโรน เซโรโทนิน และคอร์ติซอล อุบัติเหตุทางสมอง พันธุกรรม เป็นต้น

ความผิดปกติทางด้านสังคม มักมาจากความกระทบกระเทือนด้านจิตใจ เช่น การถูกกระทําทารุณกรรมในวัยเด็ก ถูกเลี้ยงดูแบบละเลยเพิกเฉย สภาพสังคม ครอบครัวที่โหดร้าย อาชญากรรม เป็นต้น

พฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้ (ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้จะเป็นไซโคพาธ และไซโคพาธก็ไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมเช่นนี้เสมอไป) คือ จะมีจิตใจแข็งกระด้าง ไม่สนใจผู้อื่น ไม่มีอารมณ์ร่วม ไม่มีความเห็นอกเห็นใจใดๆ ใคร ขาดความยับยั้งชั่งใจ ตัดสินใจโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง และมีความผิดปกติทางอารมณ์และความคิดเวลาที่เข้าสังคม มักจะมีพฤติกรรมรุนแรงซ้ำๆ

แต่ไซโคพาธก็เป็นหนึ่งในภาวะที่รักษาได้ยากและมักพยากรณ์โรคได้ไม่ค่อยดี เพราะผู้ป่วยมักจะไม่ให้ความร่วมมือกับการรักษา ฉะนั้น บุคคลที่เป็นไซโคพาธจะเป็นบุคคลที่อันตรายต่อสังคม เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาคนนั้นคือคนใกล้ตัวหรือไม่ แล้วมีพฤติกรรมความรุนแรงอยู่ในระดับไหน นั่นหมายความว่าเขาอาจกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง หรือคุณอาจกลายเป็นเหยื่อของเขาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

ไซโคพาธ เป็นความผิดปกติทางสมองมากกว่าการเลี้ยงดู?

ไซโคพาธในบางกรณีสามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนว่าเป็นความผิดปกติทางสมอง ศ.เฟลลอน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-เออร์ไวน์ ได้ศึกษาโดยการสแกนสมองของคน พบว่าความเคลื่อนไหวในสมองบางส่วนของคนที่เป็นไซโคพาธกับคนทั่วไปต่างกัน คนที่เป็นไซโคพาธ ชนิดที่ก่อเหตุรุนแรงจะมีส่วนสีเทาในสมองส่วนหน้า ซึ่งสำคัญสำหรับการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น จะทำงานเมื่อเรานึกถึงเรื่องศีลธรรม

ในสมองส่วนที่เรียกว่า อะมิกดะลา (amygdalae) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ของคนที่เป็นไซโคพาธจะเล็กกว่าคนทั่วไปมาก หากสังเกตเห็นความผิดปกติตั้งแต่ยังเด็ก อาจสะท้อนว่าไซโคพาธเป็นผลมาจากพันธุกรรม จึงมีแนวโน้มสูงที่เด็กคนนี้จะเติบโตไปมีบุคลิกไซโคพาธ และอาจกลายเป็นฆาตกรได้

ศ.เฟลลอน เคยทำการทดลองสแกนสมองสมาชิกในครอบครัวตัวเองร่วมกับฆาตกรหลายราย เขาวิเคราะห์สแกนสมองชิ้นหนึ่ง แล้วพบว่า “คนๆ นี้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม ไม่ควรถูกปล่อยให้เดินไปมาอย่างเป็นอิสระ เขาน่าจะเป็นบุคคลที่อันตรายมาก” และปรากฏว่า นั่นคือสมองของเขาเอง!

แต่ในหลายๆ คน ในวัยเด็กอาจไม่ได้มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นชัดเจน แต่พฤติกรรมเริ่มเปลี่ยนเมื่อโตขึ้น มีเบื้องหลังชีวิตไปในทางลบ ก็เป็นไปได้ว่าบุคลิกไซโคพาธจะถูกกระตุ้นมาจากการเลี้ยงดู ศ.เฟลลอน กล่าวว่า หากเด็กคนหนึ่งมีพันธุกรรมลักษณะนี้และมีประวัติเป็นผู้ถูกกระทำมาตั้งแต่เด็ก โอกาสที่เด็กคนนี้จะกลายเป็นอาชญากรในอนาคตก็จะสูงขึ้น

เมื่อไซโคพาธกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง

หากเคยติดตามข่าวอาชญากรรม จะพบว่าบุคลิกของฆาตกรต่อเนื่องนั้นจะดูเหมือนไม่มีเหตุจูงใจในการฆาตกรรม ไม่ได้ดูผิดปกติอะไรเลย แต่กลับเคยก่อเหตุรุนแรงซ้ำๆ ครั้งได้ บางรายสามารถก่อเหตุอาชญากรรมได้อย่างเลือดเย็น ไม่มีท่าทีสำนึกผิด ไม่แสดงออกว่าสงสารเหยื่อ หรืออยากขอโทษอะไรเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าสิ่งที่ตนทำเป็นความผิด

คนกลุ่มนี้รู้ดีว่าอาชญากรรมที่ตนก่อมันผิด เขารู้แน่ๆ เพราะสติเขาเป็นปกติดี ไม่ได้วิกลจริตเสียสติ แต่สิ่งที่ทำให้เขาไม่เหมือนกับคนทั่วไป คือ เขาไม่แคร์! เพราะเขาไม่มีความรู้สึก ไม่มีอารมณ์ร่วมใดๆ ถึงจะรู้ว่าผิด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดอะไร สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติหลังจากก่อเหตุ เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ในประวัติศาสตร์โลก พบอาชญากรที่ก่อคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญอยู่หลายกรณีมาก ตัวอย่างเช่น ฆาตกรแห่งเมืองผู้ดีที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แจ็กเดอะริปเปอร์ (Jack the Ripper) ที่กาลเวลาล่วงมา 133 ปีแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าฆาตกรผู้นี้เป็นใคร

หรือลุยส์ อัลเบอร์โต การาวิโต (Luis Alfredo Garavito) ผู้ที่เปรียบได้ว่าเป็นสัตว์นรก เดรัจฉานเดินดิน เขาอ้างว่าก่อคดีฆาตกรรมไปแล้ว 300 ราย ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ 138 ราย

ส่วนในประเทศไทย มีคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ได้ยินกันแพร่หลายและสะเทือนขวัญคนในสังคมได้แก่ บุญเพ็ง หีบเหล็ก สมคิด พุ่มพวง และไอซ์ หีบเหล็ก

ลักษณะการฆาตกรรมของฆาตกรต่อเนื่องมักจะมีเอกลักษณ์พิเศษ คือ ใช้วิธีฆ่าเหยื่อเหมือนกันทุกราย ซึ่งมักจะป็นการฆ่าที่ไม่มีเหตุผล โดยที่เหยื่อกับฆาตกรอาจไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย แต่มีสิ่งที่เชื่อมโยงกันคือมีมาตรฐานในการเลือกเหยื่อว่าต้องเป็นคนนี้ๆ เพราะเป็นคนที่กระตุ้นความรู้สึกเดียวที่เขามี คือ ความรู้สึกอยากฆ่า ซึ่งมักจะเป็นบุคลิกลักษณะของเหยื่อ ที่สำคัญคนพวกนี้เป็นคนที่มีปัญหาทางจิต แต่ไม่ได้เป็นโรคจิตหรือจิตเภทที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีทฤษฎีที่สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าฆาตกรต่อเนื่องรายนี้ก่อเหตุเพราะอะไร ต้องดูเป็นกรณีๆ จากจุดเริ่มต้นในการก่อเหตุ

จุดร่วมของฆาตกรต่อเนื่องที่คล้ายๆ กัน คือ พวกเขามักจะไม่ปล่อยศพให้นอนตายอย่างเรียบร้อย พวกเขามักมีวิธีจัดการกับศพในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ การชำแหละหรือหั่นศพ แต่จะมีร่องรอยเฉพาะว่า “นี่ล่ะฝีมือฉัน” ที่ทิ้งไว้เพื่อท้าทายตำรวจว่าแน่จริงก็จับให้ได้ (ก่อนจะมีเหยื่อรายต่อไป) ซึ่งพวกเขามั่นใจในตัวเองสูงมาก ว่ายังไงตำรวจก็ไม่มีทางจับเขาได้

เพราะฉะนั้น ฆาตกรต่อเนื่องเกือบทุกคนจะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ที่ถ้าเห็นเดินถนนทั่วไปแทบไม่มีทางรู้ได้เลย แต่ความไม่ปกติจะปรากฏเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งชั่วคราว ทำให้วิธีการออกห่างจากคนพวกนี้ทำได้ไม่มาก แต่ป้องกันได้โดยไม่เอาตัวเข้าไปอยู่ในความเสี่ยง เพราะคุณเองก็คงไม่รู้ว่าคุณคือกลุ่มเป้าหมายในการก่อเหตุหรือไม่ (กลุ่มที่กระตุ้นสัญชาตญาณดิบของเขา) การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้จึงเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และอยู่ยากกว่าที่คุณคิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook