กินเค็ม ไม่ได้เสี่ยงแค่โรคไต แต่ยังเสี่ยง “โรคหัวใจและหลอดเลือด”
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนคนไทย ลดกินเค็ม กินเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน เพื่อลดเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด พร้อมเตือนไม่ควรเลียนแบบพฤติกรรมการกินเกลือปริมาณมาก เสี่ยงโรคไต หรืออาจอันตรายถึงชีวิตได้
กินเกลือ กินเค็ม เสี่ยงโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การบริโภคเกลือหรืออาหารที่มีรสเค็มมากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณสูงเกินความต้องการ ซึ่งปริมาณการบริโภคเกลือที่แนะนำไม่เกิน 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน
คนไทยติดเค็มจากเครื่องปรุง ขนม อาหารแปรรูป
จากผลสำรวจปี 2563 พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน สูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 2 เท่า ส่งผลทำให้คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปกติร่างกายได้รับโซเดียมผ่านการบริโภคอาหารอยู่แล้ว โดยเฉพาะเกลือแกง ใส่ในขั้นตอนการปรุงอาหารหรือเครื่องปรุงที่ให้รสเค็ม เช่น นํ้าปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส และยังพบโซเดียมที่อยู่ในรูปสารประกอบอื่นๆ ที่อาจไม่มีรสชาติเค็มได้อีกด้วย เช่น ผงชูรสหรือผงฟู ขนมขบเคี้ยวต่างๆ อาหารแปรรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
อันตรายจากการได้รับโซเดียมมากเกินไป
คนไทยส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมการเติมเกลือ น้ำปลาหรือซอสปรุงรสในอาหารต่างๆ หรือใส่ลงบนอาหารโดยตรง เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหาร ทำให้คนไทยเสี่ยงได้รับปริมาณโซเดียมเกินกว่าความต้องการในแต่ละวัน จึงต้องขับโซเดียมส่วนที่เกินออกจากร่างกาย ทำให้ไตต้องทำงานหนักขึ้นและเสื่อมเร็วขึ้น
อีกทั้งการได้รับโซเดียมในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิต เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด ไต เบาหวาน และอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ และหากกินแต่เกลือรวดเดียว อาจส่งผลให้ไตพิการ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีลดกินเค็มแบบง่ายๆ
คนไทยควรปรับพฤติกรรมง่ายๆ ดังนี้
- อ่านฉลากก่อนซื้อทุกครั้งเลือกใช้เกลือเสริมไอโอดีน
- นำเครื่องปรุงรสออกจากโต๊ะอาหาร
- ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง
- ฝึกนิสัยไม่ให้กินเค็ม ลดการกินเครื่องจิ้มต่างๆ
- ใช้เครื่องเทศสมุนไพรแทนเครื่องปรุง
- เลี่ยงกินอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก ปลาเค็ม ผักกาดดอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินไป