สัญญาณอันตราย “จอประสาทตาฉีกขาด-หลุดลอก” ความเสี่ยงที่พบได้ทุกช่วงวัย

สัญญาณอันตราย “จอประสาทตาฉีกขาด-หลุดลอก” ความเสี่ยงที่พบได้ทุกช่วงวัย

สัญญาณอันตราย “จอประสาทตาฉีกขาด-หลุดลอก” ความเสี่ยงที่พบได้ทุกช่วงวัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พบเส้นเลือดในดวงตาผิดปกติ การมองเห็นแย่ลง หรือเห็นเหมือนสายฟ้าแล่บ รีบหาแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก

จอประสาทตาฉีกขาด-หลุดลอก อันตรายที่พบได้ทุกช่วงวัย

ศูนย์ตา ชั้น 2 อาคาร A  โรงพยาบาลพญาไท 2 ระบุว่า “จอประสาทตาลอก จอตาลอก หรือ จอตาหลุดลอก (Retinal detachment) คือ ภาวะที่เกิดการแยกหรือลอกตัวของจอประสาทตาออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแล่บหรือแสงแฟลชถ่ายรูป และมีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำๆ คล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ร่วมกับมีอาการตามัว”

ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า “โรคจอตาลอกเป็นโรคหนึ่งที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร การสังเกตพบอาการและทำการรักษาในระยะเริ่มแรก จะช่วยลดโอกาสการสูญเสียได้ เมื่อมีจอตาลอกส่วนที่ลอกหลุดจะไม่สามารถรับภาพได้ทำให้เห็นเป็นส่วนมืดเหมือนม่านบังตา บางคนเห็นภาพบิดเบี้ยวมัวเป็นคลื่นเหมือนมองใต้น้ำ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา”

ประเภทของจอประสาทตาฉีกขาด และหลุดลอก

จอตาลอกแบ่งออกเป็นประเภทตามลักษณะพยาธิสภาพได้ 3 แบบ

  1. จอตาลอกหลุดที่มีรูฉีกขาดของจอตา (rhegmatogenous retinal detachment) เป็นแบบที่พบมาก มักพบในคนที่มีน้ำวุ้นตาเสื่อม ซึ่งมีอาการนำคือ จุดดำลอยในตา และแสงวาบในตา ความเสี่ยงมีมากขึ้นในคนที่มีสายตาสั้นมาก เคยมีอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัดภายในลูกตามาก่อน
  2. จอตาลอกหลุดจากผังผืดดึงรั้ง (tractional retinal detachment) การลอกหลุดชนิดนี้ส่วนมากเกิดในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตาระยะท้าย หรืออาจเกิดได้ในโรควุ้นตาอักเสบ เด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีผังผืดดึงรั้งในตา ฉะนั้นผู้มีความเสี่ยงเช่นคนที่เป็นเบาหวาน ต้องได้รับการตรวจตาตามนัดตลอดชีวิต แม้การมองเห็นจะดี ก็อาจมีโรคจอตาเบาหวานซ่อนอยู่ ทำให้เกิดการสูญเสียสายตาอย่างฉับพลัน และถาวรได้ 
  3. จอตาลอกหลุดแบบน้ำขัง (exudative retinal detachment) จอตาลอกลักษณะนี้จะไม่มีรูฉีกขาดหรือการดึงรั้งที่จอตา ผู้ป่วยอาจมีตามัวเป็นม่านปิดจากบนลงล่าง นอนหงายอาจมัวมากขึ้น ซึ่งเป็นจากการที่มีน้ำเซาะขังใต้จอตา และกลิ้งไปมาได้ตามการเคลื่อนไหวของศีรษะ โรคนี้มีต้นเหตุได้จากหลายโรค เช่นการอักเสบที่จอตาและชั้นคลอลอยด์ใต้จอตา ตาขาวด้านหลังอักเสบ เส้นเลือดในจอตารั่วผิดปกติ หรือโรคก้อนเนื้อ มะเร็งในตา มะเร็งในร่างกายระยะท้ายที่มีการลุกลามเข้าในตา เป็นต้น

กลุ่มเสี่ยง อาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก

อาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่ด้วยสาเหตุของโรคนี้ที่มักเกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงทำให้พบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

ปัจจัยเสี่ยง ของอาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก

  1. อายุมากขึ้น
  2. สายตาสั้นมาก
  3. มีประวัติจอประสาทตาลอกมาแล้วข้างหนึ่ง หรือมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาลอก
  4. มีการติดเชื้อหรือการอักเสบภายในลูกตา
  5. มีเนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นภายในลูกตาหรือแพร่กระจายมาจากส่วนอื่น
  6. เป็นเบาหวานที่มีโรคของจอประสาทตาแทรกซ้อน
  7. เคยได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุที่ลูกตาอย่างรุนแรง หรือเคยได้รับการผ่าตัดภายในลูกตามาแล้ว เช่น การผ่าตัดต้อกระจก

อาการจอประสาทตาฉีกขาด และหลุดลอกที่สังเกตได้

  • มองเห็นผิดปกติ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด ตาแดง หรือตาแฉะใดๆ
  • มองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแล่บ หรือแสงแฟลชถ่ายรูป ในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างในขณะที่อยู่ในที่มือ
  • มองเห็นเป็นจุดดำ หรือเส้นดำๆ คล้ายเงาหยากไย่ ลอยไปมาในลูกตา
  • ตามัว คล้ายหมอกบัง หรือคล้ายเห็นเงาผ้าม่าน หรือเห็นภาพเป็นคลื่น คดงอ
  • หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาจะเริ่มรบกวนการมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ภายในเวลาไม่กี่วัน

วิธีรักษา อาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอกที่สังเกตได้

  1. เลเซอร์ หรือจี้เย็นเพื่อสร้างแผลเป็นทำให้จอตาส่วนนั้นแข็งแรง ป้องกันการหลุดลอก สำหรับผู้ป่วยที่จอประสาทตาฉีกขาดแต่ยังไม่มีการลอกหลุด
  2. ผ่าตัด สำหรับผู้ที่จอประสาทตาฉีกขาดและลอกหลุดแล้ว ซึ่งมีเทคนิคการผ่าตัดหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะการลอกหลุดนั้นๆ
  3. รักษาตามอาการ เช่น หากมีมะเร็งก็ต้องให้เคมีบำบัด หรือฉายแสง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook