ทำความรู้จัก โรคหอบจากอารมณ์

ทำความรู้จัก โรคหอบจากอารมณ์

ทำความรู้จัก โรคหอบจากอารมณ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคหอบจากอารมณ์(Hyperventilation Syndrome) คือ การที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเร็วและลึกอยู่นาน จนทำให้เกิดความผิดปกติของค่าสารเคมีในเลือด ทำให้มีอาการต่างๆ ทางร่างกายติดตามมา อาการดังกล่าว มักสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล หรือได้รับความกดดันทางจิตใจ ก่อนหน้าที่จะมีอาการ ซึ่งอาการดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และไม่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางกายอื่นๆ

ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเร็ว บ่นหายใจลำบาก หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น อาจพบอาการเกร็ง มือจีบ และอาจมีอาการชาบริเวณรอบปากและนิ้วมือได้ ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดลง ทำให้เกิดการหดตัวของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะที่สมอง รวมทั้งมีการลดลงของค่าแคลเซียมที่เป็นตัวออกฤทธิ์ในเลือดลดลงด้วย อาการดังกล่าว มักสัมพันธ์กับภาวะวิตกกังวล โดยก่อนเกิดอาการอาจพบว่า ผู้ป่วยมักมีปัญหากดดันจิตใจอย่างเห็นได้ชัด เช่น ทะเลาะกับคนใกล้ชิด หรือที่ทำงาน หรือมีปัญหาการเรียน ต้องสอบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าว อาจคล้ายคลึงกับอาการหอบจากสาเหตุทางกายได้หลายสาเหตุ เช่น โรคหอบหืด (asthma) ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะเป็นกรดในเลือดจากเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) และอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการดูแลที่ถูกต้องตามสาเหตุต่อไป

 

รักษาอาการหายใจหอบ โดยการพยายามหายใจให้ช้าลง หรือให้หายใจในถุงกระดาษที่ครอบทั้งปากและจมูก รวมทั้งการได้รับยาในกลุ่มยาคลายกังวล จะช่วยให้อาการหายใจหอบทุเลาลง แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาฉีด ซึ่งจะออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว

อาการดังกล่าวพบบ่อยในผู้ป่วยหญิง วัยเรียน ถึงผู้ใหญ่ตอนต้น ก่อนเกิดอาการมักมีปัญหากดดันจิตใจ แต่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีอายุมาก มีโรคประจำตัวอยู่เดิม หรือบุคลิกเดิมของผู้ป่วยไม่มีปัญหาในการปรับตัวกับภาวะกดดันมาก่อน หรือผู้ป่วยที่มีอาการโดยที่ไม่มีปัญหากดดันที่ชัดเจน ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุทางกายที่กล่าวไปข้างต้น

ผู้ป่วยควรได้รับการอธิบายเพื่อเข้าใจถึงกลไกการเกิดอาการ รวมทั้งได้รับความมั่นใจว่าอาการดังกล่าวไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และควรให้มาติดต่อรักษากับแพทย์ตามนัด

ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเมื่อเกิดอาการ และ เนื่องจากอาการหอบทางอารมณ์ มักสัมพันธ์กับความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับ การรับมือและการแก้ไขสาเหตุของความตึงเครียด รวมทั้งและได้รับการดูแลด้านจิตใจ เพื่อให้ปรับตัวในการรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น

ในผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี อาการดังกล่าว จะไม่ได้นำไปสู่โรคอื่นๆที่อันตราย ส่วนการพกบัตรประจำตัวผู้ป่วย จะได้ประโยชน์ในแง่การได้รับความสะดวกเมื่อไปติดต่อกับทางโรงพยาบาล และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมาก ไม่สามารถให้ข้อมูลได้

สำหรับผู้ป่วยที่สามารถใช้วิธีการฝึกหายใจให้ช้าลง ในการลดอาการหอบหายใจเร็ว อาจไม่จำเป็นต้องพกอุปกรณ์ใดๆ แต่หากไม่สามารถใช้วิธีการดังกล่าวได้ อาจพกถุงกระดาษติดตัวเพื่อใช้เวลาเกิดอาการ

 

 

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย พญ. ธนิตา หิรัญเทพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook