รู้จัก “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” โรคฮิตคนทำงานที่ป้องกันได้
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ “ออฟฟิศ ซินโดรม” (Office Syndrome) ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของเหล่าพนักงานออฟฟิศกันอยู่แล้ว แต่การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ก็ยังส่งผลให้เป็นโรคอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งรวมถึง “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” (Computer Vision Syndrome) ด้วย
ทุกวันนี้ เราใช้งานคอมพิวเตอร์กันในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงการใช้แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ๆ ด้วย ทำให้ “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” กลายเป็นโรคฮิตของคนทำงานออฟฟิศ
โรคดังกล่าวเป็นอาการของคนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน จนส่งผลให้มีอาการปวดตา ระคายเคืองตา ตาพร่ามัว ตาแห้ง ตาแดง มองเห็นภาพซ้อน และบางครั้งก็มีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
สาเหตุของ “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม”
คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไอทีเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยไม่พักสายตา ซึ่งในขณะที่ทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์นั้น ดวงตาของคนเราต้องปรับโฟกัสภาพใหม่อยู่ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ดวงตาจะต้องเคลื่อนไหวไปมาตามบรรทัดตัวหนังสือที่อ่าน หรือต้องเลื่อนดูเนื้อหาบนหน้าจอสลับไปมาและตอบสนองต่อภาพที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สมองประมวลผลภาพเหล่านั้น ในระหว่างนี้กล้ามเนื้อดวงตาจึงต้องทำงานอย่างหนัก ซึ่งมากกว่าการอ่านหนังสือธรรมดา
ยิ่งไปกว่านั้น หน้าจอคอมพิวเตอร์มีการตัดกันของสีต่าง ๆ และมีการสั่นไหวของพิกเซลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นจุดเล็ก ๆ หลายจุดที่ประกอบขึ้นเป็นภาพ และผู้ใช้งานยังต้องเพ่งสายตาเป็นเวลานาน จึงส่งผลให้เสี่ยงเกิดอาการของคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมตามมาได้
ปรับพฤติกรรมใช้คอมพิวเตอร์ ป้องกันได้
โรค Computer Vision Syndrome (CVS) เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ เพียงแค่ปรับพฤติกรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือเสียใหม่ ดังนี้
- ใช้กฎ 20-20-20 เพื่อช่วยพักสายตา โดยหลังจากใช้คอมพิวเตอร์ไปประมาณ 20 นาที ให้ละสายตาจากคอมพิวเตอร์ และมองออกไปไกล ๆ ประมาณ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อให้กล้ามเนื้อตาได้ผ่อนคลาย
- ระยะห่างจากจอคอมพิวเตอร์กับดวงตา ควรอยู่ห่างประมาณ 40-50 ซม. และควรให้จุดกึ่งกลางของหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 10-15 องศา เพื่อช่วยให้ไม่ต้องยืดคอ และไม่ต้องเพ่งสายจาดูจอมากเกินไป
- ปรับแสงสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้แสงจ้ามากเกินไป หรือใส่แว่นตากรองแสงคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยลดแสงเข้าดวงตา ทำให้รู้สึกสบายตายิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการนั่งทำงานในบริเวณที่มีแสงสว่างจากภายนอกจ้าเกินไป ส่วนแสงไฟภายในห้องที่สว่างหรือมืดเกินไปก็ไม่ส่งผลดีเช่นกัน จึงควรระวังไม่ให้แสงจากหน้าจอสว่างหรือมืดกว่าแสงโดยรอบมากเกินไป
- ปรับขนาดตัวอักษรบนหน้าจอให้มองเห็นชัดเจน เพื่อให้ดูคมชัดสบายตา จะได้ไม่ต้องใช้สายตาในการเพ่งตัวอักษรมากเกินไป
- พยายามกะพริบตาบ่อย ๆ เพื่อกระตุ้นต่อมน้ำตา ทำให้น้ำตาไหลออกมาให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ป้องกันตาแห้งและอาการระคายเคือง
- หากใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ควรสลับใส่แว่นแทนบ้าง เพื่อให้สายตาได้พัก เนื่องจากการใช้คอนแทคเลนส์ส่งผลให้ตาแห้งและระคายเคืองได้ง่าย
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพจากจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี
การดูแลรักษา
การปรับสภาพแวดล้อมและปรับพฤติกรรมการใช้สายตา จะช่วยทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้ เพราะเมื่อได้พักสายตาอย่างเหมาะสม อาการตาพร่ามัว มองภาพไม่ชัด เกิดภาพเบลอและภาพซ้อน ก็จะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติตามพื้นฐานสายตาของเรา
ส่วนการรักษาด้วยการใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดตาและแสบตานั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนําน้ำตาเทียม 2 ชนิด ได้แก่ น้ำตาเทียมแบบรายเดือน (1 ขวดใหญ่ เมื่อเปิดแล้วใช้ได้ 1 เดือน) และ น้ำตาเทียมแบบรายวัน (ใช้ได้ 24 ชั่วโมง แล้วทิ้ง) โดยสามารถใช้ได้ตามอาการ เช่น หากตาแห้งไม่มากควรใช้แบบรายเดือน แต่ถ้าตาแห้งมากควรใช้แบบรายวัน เนื่องจากสามารถหยอดได้บ่อยและถี่
โดยหลังจากการหยอดตาจะช่วยทําให้รู้สึกสบายตาขึ้น เหมือนมีน้ำหล่อลื่น ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่มีอาการมาก จำเป็นต้องใช้เป็นประจําอย่างต่อเนื่อง จนแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ในตาสมานกันดีเสียก่อน เมื่ออาการค่อนข้างคงที่แล้ว จึงค่อยเว้นระยะการหยอดตาให้ห่างขึ้น