อันตรายจาก "ข้อเข้าเสื่อม" สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา
-
ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีภาวะขาโก่ง หรือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมง่ายกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติครอบครัว
-
ปัจจุบันพบผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมีอายุน้อยลง ส่วนใหญ่พบข้อลูกสะบ้าสึก เสื่อม เนื่องจากท่านั่งทำงานในออฟฟิศที่มักพับเข่านานๆ ทำให้ลูกสะบ้าบดหัวเข่าบ่อย จนเกิดการอักเสบ นอกจากนี้การใส่รองเท้าส้นสูง เดินขึ้นลงบันไดเป็นประจำก็เพิ่มความเสี่ยงกระดูกเข่าสึกกร่อนได้ง่ายเช่นกัน
-
คอลลาเจนไม่ช่วยลดอาการเจ็บของข้อเข่า แต่เป็นการช่วยเสริมสร้างผิวข้อและหมอนรองกระดูกให้แข็งแรงขึ้นได้ เปรียบเหมือนการรับประทานวิตามินที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน จึงจะเห็นผล ถือเป็นการลดความเจ็บลงทางอ้อม
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ทั่วโลกให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในการศึกษาเกี่ยวกับโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis-OA) โดยพบว่าข้อที่เสื่อมมากที่สุด คือ ข้อเข่า เนื่องจากเป็นข้อที่มีขนาดใหญ่ มีการใช้งานอยู่ตลอดเวลา และต้องรองรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง ส่งผลให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis)
นพ. พีรพัศฆ์ รุจิวิชชญ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ระบุว่า จากสถิติในปี ค.ศ. 2017 ความเจ็บปวดของโรคข้อเข่าเสื่อม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกมากถึง 303 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคข้อเข่าเสื่อมและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยผลวิจัยในปี 2016 จากกลุ่มผู้หญิงผิวขาวในเขตชิงฟอร์ด (Chingford) ประเทศอังกฤษ จำนวน 821 คน แสดงให้เห็นว่าอาการปวดเข่าไม่ว่าจะเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อมหรือไม่ก็ตาม มีความสัมพันธ์กับการเสียชีวิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ (CVD) ก่อนวัยอันควร
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม คือภาวะความเสื่อมของผิวกระดูกอ่อนในเข่า ทำให้มีการอักเสบของข้อต่อกระดูก มักพบว่ามีอาการบวมๆ ยุบๆ ข้อฝืด อาจเกิดซ้ำๆ เป็นๆ หายๆ ตลอดเวลาของการใช้งานข้อเข่า ซึ่งมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังนี้
- การบาดเจ็บที่หัวเข่าอย่างรุนแรงในอดีต อาจเกิดจากการที่เอ็นไขว้หน้าฉีกขาดหรือข้อกระดูกฉีกขาด และมีการใช้งานซ้ำๆ จนทำให้ผิวข้อกระดูกอ่อนสึกกร่อน ลอกร่อนถึงชั้นใน ทำให้มีการอักเสบเรื้อรังในข้อเข่า
- พันธุกรรม ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีภาวะขาโก่ง หรือเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีโอกาสข้อเข่าเสื่อมง่ายกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติ
- โรคประจำตัว เช่น กลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีการอักเสบตลอดเวลา เช่น โรครูมาตอยด์ สะเก็ดเงิน และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) ซึ่งโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติเหล่านี้จะเป็นปัจจัยกระตุ้น ให้ข้อเข่าหรือเยื่อหุ้มข้อมีการอักเสบตลอดเวลา ส่งผลให้ผิวข้อกระดูกลอกร่อน นอกจากนี้โรคระบบการเผาผลาญในร่างกายผิดปกติ เช่น มีภาวะยูริกในเลือดสูง จะส่งผลให้กรดยูริกไปสะสมในข้อ ทำให้เยื่อผิวข้อมีการอักเสบบ่อย และผิวข้อกระดูกสึกหรอได้ง่าย
- ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก หรือเป็นโรคแอลกอฮอล์เรื้อรัง เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลทำให้ผิวข้อกระดูกตายง่ายกว่าปกติ รวมถึงทำให้ผิวข้อกระดูกอ่อนเสื่อมแบบเฉียบพลัน
- ผู้ที่ได้รับสเตียรอยด์เป็นประจำ ทำให้ผิวข้อกระดูกอ่อนสึกกร่อน ลอกร่อน ได้ง่ายกว่าปกติ
- มีน้ำหนักตัวเกิน ทำให้ข้อเข่าต้องทำงานหนักตลอดเวลา
- อายุและพฤติกรรม ปัจจุบันพบผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมีอายุน้อยลง อยู่ที่ประมาณ 45 ปี ส่วนใหญ่พบข้อลูกสะบ้าสึก เสื่อม เนื่องจากท่านั่งทำงานในออฟฟิศที่มักพับเข่านานๆ ทำให้ลูกสะบ้าบดหัวเข่าบ่อย จนเกิดการอักเสบ นอกจากนี้การใส่รองเท้าส้นสูง เดินขึ้นลงบันไดเป็นประจำก็เพิ่มความเสี่ยงกระดูกเข่าสึกกร่อนได้ง่ายเช่นกัน
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
- เข่าฝืด งอเหยียดมีเสียงกรอบแกรบ
- เข่าบวม เจ็บเวลาลงน้ำหนัก
- รู้สึกร้อนๆ หรือมีเสียงในเข่า รู้สึกเยื่อหุ้มเข่าทำงานไม่ปกติ
- รู้สึกเสียวบริเวณเข่า ขณะขึ้นลงบันได
อาการที่ควรพบแพทย์
เข่าบวมปวด เป็นบ่อยๆ รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น
การวินิจฉัยโรคข้อเข่าเสื่อม
- แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ตรวจดูองศาการขยับของข้อเข่า ภาวะข้อหลวม เอ็นหุ้มข้อหลวม ลูกสะบ้าอักเสบ
- เอกซเรย์ เพื่อดูแนวกระดูกทรุดตัว ดูภาวะข้อกระดูกลูกสะบ้ากางออก รวมถึงพื้นผิวกระดูก
- ส่งตรวจ MRI ในกรณีพบข้อเข่าหลวม เพื่อตรวจหมอนรองกระดูกและเอ็นเข่า
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
- รักษาตามอาการ เช่น ดูดน้ำออกจากเข่า เพื่อลดอาการบวมและให้สามารถงอ เหยียดเข่าได้ ฉีดยาเพื่อลดการอักเสบของข้อที่มีอาการเจ็บ อาจใช้สเตียรอยด์ในกรณีอักเสบเรื้อรัง
- ฟื้นฟูกล้ามเนื้อ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติ และไม่ให้ข้อสึกมากขึ้น
- รักษาด้วย Platelet Rich Plasma (PRP) โดยการฉีดเกล็ดเลือดของผู้ป่วยที่ผ่านการปั่นแยกจนได้สารเลือดที่เหมาะกับการใช้รักษา เพื่อช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมให้ร่างกายรักษาความเสื่อมของข้อเข่า
- ฉีดน้ำไขข้อเทียม (Hyaluronic acid) ส่วนใหญ่ใช้รักษาควบคู่กับการฉีดเกล็ดเลือด เพื่อลดความฝืดของข้อเข่า
- การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาจาก อาการ อายุ การงาน อาชีพ และระยะเวลาการพักฟื้น เพื่อเลือกการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น อาการไม่มากและมีอายุน้อย อาจเลือกซ่อมหมอนรองกระดูกเข่า ตัดแต่งผิวข้อให้เรียบ ฟื้นฟูข้อเข่าและสร้างกล้ามเนื้อ ในกรณีผู้ป่วยอายุมาก มุมกระดูกผิดรูป แต่ยังไม่ถึงวัยที่ต้องเปลี่ยนข้อเข่า อาจใช้วิธีตัดแต่งมุมกระดูกใหม่ (High Tibial Osteotomy - HTO) เป็นการแต่งมุมการลงน้ำหนักหัวเข่าให้ไปในแนวที่สึกน้อย เพื่อยืดอายุการใช้งานของข้อกระดูกให้นานขึ้น ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนข้อ สำหรับผู้ป่วยที่เข่าเสื่อมทั้งบน ล่าง ผิวข้อด้านหน้าและลูกสะบ้า (Tricompartmental osteoarthritis) สามารถรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แบบเต็มข้อ (Total Knee Arthroplasty-TKA) ปัจจุบันมีการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็ก เพื่อให้เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยลง (Minimally Invasive Surgery-Total Knee Arthroplasty; MIS-TKA)
การฟื้นฟูร่างกาย หลังผ่าตัด
ขึ้นอยู่กับวิธีการผ่าตัดหรือหัตถการที่แพทย์ใช้ โดยในภาพรวมเป็นดังนี้
- ระวังการลงน้ำหนักบริเวณเข่า ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อรอให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นที่เย็บไว้ประสานตัวกันดีก่อน
- พักการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมที่ต้องใช้เข่า ประมาณ 6 เดือน ในกรณีที่มีการซ่อมแซมเอ็นไขว้หน้า หรือ หมอนรองกระดูก
- กรณีเปลี่ยนข้อเข่าเทียม สามารถใช้เครื่องช่วยพยุงเดินหลังจากผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์ และเดินขึ้นลงบันไดได้ประมาณ 6 สัปดาห์
การป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
- ควบคุมน้ำหนัก ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป
- หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เข่าเสื่อม เช่น การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือนั่งทับเข่าเป็นเวลานาน
- งดการเล่นกีฬาที่ทำให้เอ็นฉีกง่าย เช่น แบดมินตัน ฟุตบอล บาสเกตบอล
- เสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบเข่าให้กระชับแข็งแรง
- รับประทานคอลลาเจน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้ผิวข้อและหมอนรองกระดูก
- ฉีดน้ำไขข้อเทียม เมื่อมีอาการ หรือตามแพทย์แนะนำ
ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น?
กรณีเส้นเอ็นขาด หมอนรองกระดูกฉีกแล้วยังใช้งานโดยไม่รักษาหรือพักการใช้งาน จะส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น รวมถึงอาจทำให้การรักษาซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น